มธ. (ธรรมศาสตร์) นำร่อง มอเตอร์ไซด์รับจ้างไฟฟ้า SOLARYDE ในมหาลัย ชำระผ่าน QR payment เที่ยวละ 1 บาท

0

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมมือกับบริษัท STAR 8 (THAILAND) เปิดตัว “โซลาร์ไรด์” (SOLARYDE) โครงการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และสถานีชาร์จไฟจากพลังงานโซลาร์เซลล์ ภายในมหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ต่อยอดความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว และผลักดันให้ธรรมศาสตร์กลายเป็นสมาร์ทซิตี้นำร่อง (SMART CITY) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ โดยรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าดังกล่าวจะเข้ามาทดแทนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ใช้น้ำมันที่มีอยู่เดิม ซึ่งในเฟสแรกจะเริ่มทำการเปลี่ยนจำนวนทั้งสิ้น 25 คันในเดือนมีนาคม ซึ่งจะเพิ่มจำนวนเป็น 50 คันในเดือนเมษายน และ 150 คัน ภายในสิ้นปี 2561 นี้ตามลำดับ ทั้งนี้ การนำร่องใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าครั้งนี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้มากกว่า 500 เมตริกตันต่อปี

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มธ. กล่าวว่า โครงการโซลาร์ไรด์ (SOLARYDE) เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และภาคเอกชนในการต่อยอดนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวเพื่อพลังงานสะอาดและยั่งยืน และการผลักดันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่สมาร์ทซิตี้นำร่อง (SMART CITY) โดยโซลาร์ไรด์เป็นโครงการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างพลังงานสะอาดและประหยัดแบบครบวงจร ตัวมอเตอร์ไซค์ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าจาก

แบตเตอรี ที่มาพร้อมสถานีชาร์จไฟ ซึ่งใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไปก่อนหน้านี้ พร้อมให้บริการนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารับจ้างในอัตราค่าบริการเท่าเดิม แต่มีโอกาสช่วยลดมลพิษให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นการประหยัดการใช้พลังงานให้กับประเทศชาติ อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ เนื่องจากรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าดังกล่าว ได้ถูกจำกัดความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเบื้องต้น ได้เริ่มดำเนินการเปลี่ยนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ให้บริการภายในมหาวิทยาลัย ให้เป็นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจำนวน 25 คัน พร้อมให้บริการในเดือนมีนาคม ซึ่งจะเพิ่มจำนวนเป็น 50 คันในเดือนเมษายน และ 150 คัน ภายในสิ้นปี 2561 นี้ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันตัวเลขปริมาณยานพาหนะทุกประเภทที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีสูงถึงประมาณ 22,000 คันต่อวัน คิดเป็นคาร์บอนที่ปล่อยประมาณ 3,700 เมตริกตันต่อปี ทั้งนี้ การนำร่องใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าครั้งนี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในศูนย์รังสิตได้มากกว่า 500 เมตริกตันต่อปี และมีเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนจากบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท (Zero Carbon Transportation) ให้เป็นศูนย์ ภายในเวลา 5 ปี

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ได้ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน จากการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเน้นที่การใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน การเพิ่มและรักษาต้นไม้ใหญ่ เพื่อลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดขยะ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ความร่วมมือกับบริษัทโซลาร์ตรอนในการติดตั้งแผงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 5 เมกะวัตต์ การใช้รถรางไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้นำร่องติดตั้งไปแล้วจำนวน 6 คัน รวมไปถึงการสร้างอาคารที่ได้รับการออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงาน ฯลฯ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย

นายณัฐพล อัครลาวัณย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท STAR 8 (THAILAND) กล่าวเพิ่มเติมว่า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่จะใช้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นรุ่นพิเศษที่มีระบบเปลี่ยนแบตเตอรี่อย่างรวดเร็วทันใจ (Easy Swap Battery) สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้อย่างสะดวกรวดเร็วเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมดเพื่อให้สามารถบริการได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยแบตเตอรี่ก้อนเก่าจะถูกนำไปชาร์จไฟฟ้าจนเต็มและนำมารอเปลี่ยนต่อไป โดยสถานีชาร์จไฟ (Battery Charging & Swapping Station) ได้รับการออกแบบดีไซน์พิเศษจากทีมงานวิศรกรของบริษัท เพื่อให้สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้เต็มภายในระยะเวลาไม่ถึง 4 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้สำหรับรูปลักษณ์ของรถมอเตอร์ไซค์เอง ทางบริษัท star 8 ก็ได้ออกแบบพิเศษใหม่ให้กับโครงการนี้ โดยมุ่งเน้นรูปทรงที่โมเดิร์นทันสมัยตามสไตล์ของรถไฟฟ้า และเข้ากับแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่มีความคิดก้าวหน้าทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

พร้อมกันนี้ยังได้พันธมิตรเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าวโดย นางสาวพจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อความต่อเนื่องในการเดินหน้าสนับสนุนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ธนาคารจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมอำนวยความสะดวกด้านการชำระค่าบริการ และพิเศษสุดๆ เพื่อร่วมสร้างการรับรู้และเชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยลดมลพิษและประหยัดการใช้พลังงานให้กับมหาวิทยาลัย ผู้ใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารับจ้างของบริษัท STAR 8 (THAILAND) ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สามารถชำระค่าบริการ ผ่าน QR Code บนแอปพลิเคชัน ‘บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง’ ของธนาคารกรุงเทพ เพียงเที่ยวละ 1 บาท ตั้งแต่วันนี้จนถึง 11 เมษายน 2561 ส่วนรถมอเตอร์ไซค์ผู้ให้บริการ เพียงรับชำระเงินผ่าน QR Code ของธนาคารกรุงเทพ ก็จะได้รับเงินคืน 10 บาทต่อรายการ สูงสุดถึง 300 บาท ต่อเดือน ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2561

อ่านข่าว EV เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

Background EXP in Automotive journalists more than 10 Years Writer & Test Driver @Pantip Garage 2018-Present @9carthai 2015- 2017 @Torque & VIPStyle Magazine 2015 @Autospinn 2012-2015 @GTmania.tv 2009-2010

error: Content is protected !!