Gentlemen’s Agreement คืออะไร ? ทำไมต้องจำกัดความเร็วตัวแรงไว้ที่ 299 กิโลเมตร/ชั่วโมง ? มาดูกันครับ

0

ในขณะที่ซุปเปร์ไบค์ตัวแรงจากหลายๆค่ายเกินกว่า 70% สามารถทำแรงม้าได้สูงสุดเกิน 200 ตัวเข้าไปแล้ว แต่ตัวเลขความเร็วสูงสุดของรถมอเตอร์ไซค์สมรรถนะสูงเหล่านี้กลับแทบไม่เคยถูกเคลมไว้ว่าเกิน 299 กิโลเมตร/ชั่วโมงซักที ซึ่งสาเหตุสำคัญในเรื่องนี้นั้นก็เป็นเพราะว่าแต่ละบริษัทผู้ผลิตได้มีการตกลงทำ “สัญญาลูกผู้ชาย” หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Gentlemen’s Agreement” ไว้ แต่ข้อสัญญาที่ว่านี้มันคืออะไร เกิดมาได้ยังไง วันนี้เราจะมาเฉลยคำตอบในเรื่อนี้กันครับ

โดยสำหรับความหมายของ “Gentlemen’s Agreement” ในเบื้องต้น หากต้องนิยามเป็นข้อความสั้นๆ มันก็คือ “ข้อตกลงระหว่างบุคคลหรือบริษัท” ที่เกิดขึ้นโดยมีหรือไม่มีการระบุข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ เปรียบเสมือนสัญญาระหว่างลูกผู้ชายด้วยกันว่าเราจะไม่ทำนอกเหนือจากที่ตกลงร่วมกันไว้เพื่อไม่ให้มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

2000-japan-legend-cars
แต่หากเอาจริงๆแล้วข้อตกลงที่ว่านี้ ในมุมของธุรกิจยานยนต์ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นข้อตกลงที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ซะมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งทางสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกข้อบังคับเมื่อราวๆปี 1975 ว่า รถยนต์ของผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นแต่ละค่ายจะต้องถูกล็อคความเร็วไว้ห้ามไม่ให้เกิน 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง และก็ออกข้อบังคับเพิ่มอีกว่า ตัวรถจะต้องถูกอั้นกำลังสูงสุดไว้ให้ทำแรงม้าได้ไม่เกิน 280 ตัวในหน่วย PS ในปี 1988 เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ โดยไม่เกี่ยงเลยว่ารถยนต์คันนั้นจะมีระบบอัดอากาศอย่างเทอร์โบชาร์จเจอร์กี่ลูก, มีลูกสูบกี่กระบอก, มีขนาดความจุกี่ลิตร, และจะเป็นรถซีดาน 4 ประตูขับเคลื่อน 4 ล้อหรือจะเป็นสปอร์ตคาร์ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง

อย่างไรก็ดีหลังจากผ่านไป เกือบ 30 ปี ทางสมาคมก็เริ่มเล็งเห็นแล้วว่า ข้อตกลงที่ตนเองสร้างขึ้นไม่ได้มีผลถึงความปลอดภัยบนท้องถนนซักเท่าไหร่ เพราะตัวแปรสำคัญ หรือสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้รถมีความปลอดภัยมากขึ้นจริงๆก็คือส่วนเสริมระบบความปลอดภัยเช่น ระบบถุงลมนิรภัย และ ระบบ ABS ซะมากกว่า ทำให้สุดท้ายในปี 2003 พวกเขาได้ประกาศยกเลิก “สัญญาลูกผู้ชาย” นี้ เพื่อให้เหล่าผู้ผลิตรถยนต์สามารถสร้างตัวรถที่เร็วและแรงขึ้นได้นับตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา

แล้ว “สัญญาลูกผู้ชาย” ในกลุ่มผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์เกินขึ้นได้อย่างไร ?

1997-honda-cbr1100xx-blackbird-01
งานนี้เราคงต้องย้อนไปในช่วงปี 1980-2000 ที่ถือยุคทองแห่งการแข่งขันการสร้างรถมอเตอร์ไซค์ที่เร็วที่สุดในโลก โดยตัวรถที่เด่นชัดที่สุดของยุคก็คือเจ้า Honda CBR1100XX หรือ “Super Blackbird” ที่เปิดตัวในช่วงปี 1997 ด้วยการชูจุดเด่นคือความเร็วสูงสุดที่ทำได้ถึง 287.3 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเยอะที่สุดแล้วในยุคดังกล่าว หลังจากนั้นไม่นานนักในปี 1999 Suzuki Hayabusa ก็ถูกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ด้วยเสียงฮือฮาที่มากกว่า เพราะมันคือโปรดักชั่นไบค์คันแรกของโลกที่สามารถทำความเร็วทะลุกำแพงตัวเลข 300 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ (สถิติที่เจ้า “เหยี่ยวอ้วนทำได้ก็คือ 312 กิโลเมตร/ชั่วโมง”)

1999-suzuki-hayabusa-01
แน่นอนว่าในเมื่อ Honda เปิดแล้ว Suzuki ก็ตามแล้วทาง Kawasaki เองก็มีแผนจะเปิดตัวเจ้าแห่งความเร็วใหม่เช่นกัน นั่นก็คือ Ninja ZX-12R ที่คาดว่าจะสามารถทำความเร็วได้สูงสุดเกิน 322 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ทะลุกำแพงตัวเลข 200 ไมล์/ชั่วโมง) แต่ก่อนที่ตัวรถจะสามารถทำความเร็วกันไปได้มากกว่านี้ทางสหภาพยุโรปจึงได้ประกาศออกมาดักหน้าทันทีว่าจะทำการแบนรถมอเตอร์ไซ์ที่เร็วเกินกว่า 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง เนื่องจากไม่อยากให้เกิดการทดลองทำความเร็วระดับนี้บนถนนหลวง ซึ่งอันตรายอย่างมากที่จะเกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพสินย์ของผู้ใช้รถใช้ถนนผู้อื่น (แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการระบุข้อบังคับนี้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ดี)

2005-kawasaki-zx12r-01
จากกรณีดังกล่าวทำให้ Honda เลือกประกาศออกมาทันทีว่าพวกเขาจะไม่ทำตัวรถที่เร็วเกิน 300 กิโลเมตร/ชั่วโมงออกมา เพราะเห็นด้วยกับความคิดนี้ ส่วน Suzuki กับ Kawasaki ก็เลือกที่จะไม่นำเสนอข้อมูลในเรื่องนี้อีกต่อไป และสุดท้ายจึงกลายเป็น “สัญญาลูกผู้ชาย” ระหว่างผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ด้วยกันอย่างไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา (ข้อสัญญาที่ว่านี้นับรวมถึงผู้ผลิตสัญชาติยุโรปด้วยนะครับ ไม่ได้มีแค่สัญชาติญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว โดยอาจจะมีบางค่ายเท่านั้นที่อินดี้ และกล้าเคลมความเร็วสุงสุดบนหน้ากระดาษข้อมูลทางเทคนิคของตนเองต่อไป อย่างเช่น Aprilia และ MV Agusta)

2015-Yamaha-YZFR1M-Topspeed-01
แต่ช้าก่อนครับ แม้ว่าตัวรถแต่ละคันที่ผลิตในยุคหลังปี 2001 จะถูกจำกัดความเร็วไว้ให้ไม่เกิน 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามสัญญาลูกผู้ชายที่มีการตกลงกันไว้แบบปากเปล่าก็จริง แต่ยังไงการทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่าใครเพื่อน ก็ยังเป็นจุดขายสำคัญที่เหลาผู้ผลิตต้องใช้ในการดึงดูดลูกค้า ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าในยุคหลังๆมานี้ การล็อคความเร็วที่ว่าจะเกิดขึ้นแค่บนหน้าจอมาตรวัดเท่านั้น เพราะถ้าเพื่อนๆลองสังเกตุดีๆก็จะเห็นได้ว่า แม้ความเร็วสุดท้ายบนแผงตัวเลขดิจิตอลจะอยู่ที่ 299 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เข็มวัดรอบกลับไหลต่อไปเรื่อยๆไม่มีหยุด ซึ่งเป็นเหมือนกับการลักไก่ไปในตัว

7495_honda_cbr1000rr_ym17_215_resize
จนสุดท้ายข้อสัญญาที่ว่านี้ดูเหมือนจะเริ่มไม่สำคัญไปทุกทีซะแล้ว และเหลือแค่เพียง Honda เท่านั้นที่ยังยืนหยัดในสัญญาข้อนี้อยู่ เนื่องจากความปลอดภัยคือหัวข้อสำคัญสุงสุดที่ค่ายนี้เลือกนั่นเอง

ขอบคุณภาพประกอบจาก MCN, Kevin Agius, Spamsafe

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

Background EXP in Automotive journalists more than 10 Years Writer & Test Driver @Pantip Garage 2018-Present @9carthai 2015- 2017 @Torque & VIPStyle Magazine 2015 @Autospinn 2012-2015 @GTmania.tv 2009-2010

error: Content is protected !!