Tips Trick : “ระยะฐานล้อ” วัดจากอะไร ? มีผลอย่างไรกับตัวรถบ้าง ?

0

ปกติแล้ว ในการระบุเลขข้อมูลทางเทคนิคตัวรถ โดยเฉพาะในเรื่องของมิติตัวรถ นอกจากตัวเลขด้านกว้าง, ด้านยาว, และด้านสูงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งตัวเลขที่เรามักพบเห็นกันอยู่เสมอๆนั่นก็คือ “ระยะฐานล้อ” ซึ่งเพื่อนๆบางคนถึงหลายคนอาจจะสงสัยกันว่า มันคือเลขอะไร ? และมีไว้ทำไม ? บ่งบอกถึงอะไรบ้าง ? ดังนั้นในบทความ Tips Trick วันนี้เราจึงจะมานำเสนอเกร็ดสาระเล็กๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เพื่อนๆทราบกันครับ มาเริ่มกันเลย

GPX-Legend-250-Twin-Review-47
หากเกริ่นในเบื้องต้นตัวเลข “ระยะฐานล้อ” ของรถมอเตอร์ไซค์แต่ละคันที่เห็นเหล่าผู้ผลิตระบุไว้ในโบรชัวร์ หรือเว็บไซต์ของพวกเขานั้น จะเป็นตัวเลขที่หาได้จากระยะห่างของตำแหน่งเพลาล้อหน้า กับตำแหน่งเพลาล้อหลัง ซึ่งจะสัมพันธ์กับตำแหน่งที่หน้ายางของล้อแต่ละฝั่งสัมผัสกับพื้นถนนพอดี ไม่ใช่ระยะห่างระหว่างล้อหน้ากับล้อหลังที่วัดจากขอบยางด้านหลังของล้อหน้า กับขอบยางด้านหน้าของล้อหลังนะครับ อย่าเข้าใจผิด

Review-Harley-Davidson-FXDR-114-Freedom-Ride-Trip-08
ที่นี้ระยะฐานล้อมีผลถึงการขี่อย่างไร ? หากนิยามแบบสั้นๆง่ายๆ รถมอเตอร์ไซค์ที่มีฐานล้อยาวกว่าเพื่อนๆ จะมีข้อดีในเรื่องของ ความมั่นคงในการขี่ช่วงทางตรงที่มากกว่า ดังนั้นรถมอเตอร์ไซค์แนวทัวร์ริ่ง หรือแนวครุยเซอร์ จึงมักออกแบบมาในทิศทางนี้ ไม่เพียงเท่านั้นตัวรถก็ยังมีโอกาสล้อหน้าลอยเวลาเปิดคันเร่งน้อยกว่า เพราะจุดศูนย์ถ่วงของรถที่อยู่ใกลล้อหลัง จะช่วยกดล้อหน้าเอาไว้ เราจึงเห็นกันบ่อยๆว่าในรถแข่งแดรกเครื่องแรงๆทั้งหลายชอบยืดสวิงอาร์มออกไปให้ใกลจากตำแหน่งเดิมตอนออกโรงงานหลักหลายสิบเซนติเมตร

2017-Triumph-Street-Triple-RS-765-Review_50
ขณะที่ฝั่งรถมอเตอร์ไซค์ฐานล้อสั้น ก็จะให้ผลกลับกัน คือสามารถพลิกโค้งได้ว่องไวและคล่องตัวกว่า เพราะด้วยฐานล้อที่สั้น จึงทำให้มันสามารถตีวงเลี้ยวแคบๆได้ดีกว่าฐานล้อยาว เราจึงมักเห็นรถมอเตอร์ไซค์แนวเนคเก็ทไบค์ หรือสปอร์ทไบค์ที่ต้องการความปราดเปรียวในการพลิกเลี้ยว ถูกออกแบบให้ตัวมันเองมีฐานล้อสั้นไว้ก่อน แต่แน่นอนว่ามันก็ต้องแลกกับเสถียรภา่พตัวรถในช่วงความเร็วสูงๆแทน (ในรถสปอร์ตไบค์ตัวแรงทั้งหลายโดยเฉพาะในฝั่งตัวพันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จำเป็นจะต้องมีกันสะบัดติดมาให้เพื่อแก้ทาง)

Review-2019-Honda-CB1000R
อย่างไรก็ดี ความสามารถในการพลิกเลี้ยว หรือเสถียรภาพในช่วงทางตรงของตัวรถที่เรากล่าวมา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่เรื่องนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังมีองค์ประกอบอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันอย่าง องศาแผงคอ (มุมเรค), ระยะเทรล, รวมถึงจุดศูนย์ถ่วงของรถ แม้แต่การเซ็ทอัพความหนืดความแข็งช่วงล่างอีก ดังนั้นสำหรับผู้ใช้ทั่วไป จึงควรดู ค่าตัวเลขระยะฐานล้อ แค่เพื่อใช้ในการคาดคะเนบุคลิกรถคร่าวๆเทียบกับรถคันอื่นๆเท่านั้นนะครับ อย่ารีบสรุปก่อนจนกว่าจะได้ขี่จริงเด็ดขาดเชียวล่ะ

ขอบคุณสาระเพิ่มเติมจาก CycleWorld

อ่าน Tips Trick อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!