คนที่ดูการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตอย่าง MotoGP น่าจะเคยได้ยินชื่ออาการ อาร์มปั้ม(Arm Pump) ผ่านหูกันมาบ้าง ซึ่งส่งผลให้นักแข่งเหล่านั้นต้องออกจากการแข่งขันกลางรายการ หรือถูกส่งตัวไปผ่าตัดกันหลายคน ก้อง สมเกียรติ จันทรา ก็เป็นนักแข่งอีกคนที่เพิ่งทำการผ่าตัดรักษาอาการนี้ ซึ่งทำให้เขาต้องออกจากการแข่งสนามล่าสุดอย่างกระทันหัน

อาร์มปั้ม(Arm Pump) หรือชื่อทางการแพทย์คือ Chronic Exertional Compartment Syndrome (CECS) มีสาเหตุมาจากการออกแรง หรือเกร็งกล้ามเนื้อช่วงแขนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่นการขี่รถแข่งเป็นเวลานานโดยไม่พัก การเบรกอย่างรุ่นแรงในรถแข่งก็ถือเป็นการสร้างภาระให้กับกล้ามเนื้อแขน

ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนและส่งออกซิเจนไปที่กล้ามเนื้อแขนได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการ “ชา” หรือ “เจ็บ” อย่างรุ่นแรงตามมา ตามปกติแล้วอาการนี้จะหายไปภายใน 30 นาที หลังจากหยุดพัก เมื่อนักแข่งทำแบบนี้อย่างต่อเนื่องนานวันเข้า ร่างกายจะเริ่มสร้างผังผืดรอบกล้ามเนื้อเอาไว้ ซึ่งผังผืดที่ว่านี้ไม่มีความยืดหยุ่นเหมือนกล้ามเนื้อปกติ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ยากขึ้น ส่งผลให้อาการอาร์มปั้มเกิดขึ้นได้ง่าย และรุ่นแรงขึ้นในระยะยาว

ทำให้ในปัจจุบันวิธีการรักษาอาการอาร์มปั้มนั้นจะมีเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือการผ่านตัดที่เรียกว่า Fasciotomy ซึ่งจะทำการผ่าเอาผังผืดออกไป แล้วแยกกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหาออกจากกัน ทำให้กล้ามเนื้อนั้นไม่กลับมามัดตัวรวมกันอีก แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้รับประกันว่าอาการนี้จะไม่กลับมา เพราะถ้าหากใช้กล้ามเนื้อแขนซ้ำต่อไป อาการนี้ก็อาจจะกลับมาที่จุดเดิม หรือเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อมัดอื่นในแขนแทนก็ได้

โดยระยะเวลาที่นักแข่งต้องใช้ในการฟื้นตัวนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 6 สัปดาห์ แต่อาจจะแตกต่างออกไปขึ้นอยู่กับอาการ และความเร็วในการฟื้นตัวของแต่ละคน และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราเห็นนักแข่งหลายคนมีแผลที่บริเวณแขน ในตำแหน่งที่คล้ายกัน ก็เป็นผลมาจากการที่พวกเขาทำการผ่าตัดเพื่อรักษาอาร์มปั้มนั่นเอง

แต่นอกจากนักแข่ง MotoGP หรือนักแข่งมอเตอร์ไซค์รายการอื่น นักกีฬาประเภทอื่นที่ต้องออกแรงเกร็งแขนอย่างต่อเนื่อง ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นอาร์มปั้มได้เหมือนกัน เช่น นักปีนเขา นักพายเรือ หรือนักเทนนิส

อันที่จริงแล้วคนทั่วไปที่ใช้กล้ามเนื้อแขนอย่างต่อเนื่องมากเกินไป หรือคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์แฮนด์หมอบเป็นเวลานาน ก็เจอปัญหานี้ได้เหมือนกัน ทางแก้ทั่วไปคือการหยุดพักเมื่อเริ่มรู้สึกเมื่อยล้า ไม่ฝืนใช้กล้ามเนื้อแขนมากขึ้นไป หรือขับขี่มอเตอร์ไซค์โดยทิ้งน้ำหนักไปที่แขนให้น้อยลง ซึ่งจะทำได้โดยการใช้กล้ามเนื้อขาที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่า หนีบตัวรถให้กระชับขึ้น ฝึกกล้ามเนื้อแกนลำตัว ทำให้แขนไม่ต้องรับน้ำหนักตัวเราโดยตรง
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่