วิวัฒนาการ “ท่าทิ้งโค้ง” นักบิด MotoGP ยุค 70’s – ปัจจุบัน

0

การแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก MotoGP ชื่อนี้อาจจะพึ่งมีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2002 แต่ในความเป้นจริงแล้ว การแข่งขันนี้ถูกจัดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 โดยใช้ชื่อดั้งเดิมว่า “FIM Road Racing World Championship Grand Prix” หรือที่เรียกสั้นๆว่า “World Grand Prix” และด้วยระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษ กับตัวแข่งที่ถูกพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆและเปลี่ยนไปในทุกๆวัน ท่าทางการขี่ของนักบิดที่ควบคุมมันจึงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยด้วยดังคลิปที่เพื่อนๆจะได้เห็นกันต่อไปนี้

motogp-early-years-riding-styles-02
โดยหากแบ่งตามช่วงปีของการแข่งขัน ท่านั่งของนักบิดในแต่ละยุคจะมีการปรับเปลี่ยนท่าทางในการทิ้งโค้ง ดังนี้
ยุคแรก
– นั่งตรงแล้วเอียงไปกับรถ (Lean With)
– เอียงเท่าที่จำเป็นเพื่อเลี้ยวเท่านั้น เนื่องจากแรงยึดเกาะของยาง และระบบกันสะเทือนของรถมอเตอร์ไซค์ในยุคดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่นัก
– ตัวแข่งมีแรงม้าเพียงแค่ราวๆ 80 Bhp ดังนั้นการหมอบแล้วเกาะรถไว้ให้มากที่สุดเพื่อการลู่ลมจึงสำคัญกว่าการเอาตัวออกมาเพื่อทิ้งโค้ง

motogp-70s-riding-styles-01
ยุค 70’s (หรือยุคต้น-กลางของตัวแข่งครื่องยนต์ 2 จังหวะ)
– เนื่องจากตัวแข่งและยางได้รับการพัฒนาจนมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะที่ดียิ่งขึ้น เหล่านักบิดจึงเริ่มสามารถเอียงรถเข้าโค้งได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง Kenny Robert เริ่มสามารถโน้มตัวออกจากรถเข้าไปในโค้งแล้วใช้เข่ากางออกมาเพื่อเป็นเซนเซอร์ในการทิ้งโค้ง สำหรับบ่งบอกถึงลิมิตในการเอียงของรถได้อย่างเป็นกิจลักษณะคนแรกๆของการแข่งขันในยุคนั้น
– นอกจากนี้ ด้วยตัวแข่งที่เริ่มมีพละกำลังมากขึ้น (คาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 120-140 แรงม้า) จึงทำให้นักบิดหลายคนใช้วิธีการเปิดคันเร่งเพื่อให้ล้อหลังกวาดออก หน้ารถจะได้หันเข้าโค้งได้มากกว่าการเลี้ยวด้วยลักษณะการเข้าโค้งแบบปกติแทน

motogp-90s-riding-styles-01
ยุค 90’s (หรือยุคสุดท้ายของตัวแข่งครื่องยนต์ 2 จังหวะ)
– ในยุคนี้ถือเป็นยุคที่ใช้อธิบายคำว่า “Man & Machine” ได้ดีที่สุด เพราะในขณะที่ตัวแข่งมีพละกำลังมากขึ้นจนแตะระดับ 200 แรงม้า และทางกรรมการก็มีการปรับขนาดไซส์ยางของตัวแข่งให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับกับพละกำลังที่มากขึ้น แต่ด้วยความเป็นเครื่องยนต์ 2 จังหวะ 500cc โดยที่ไม่มีระบบแทร็คชันคอนโทรลมาควบคุมดังนั้นการขี่ตัวแข่งในยุคนี้จึงไม่สามารถใช้ท่าเอียงรถแบบ Lean-With หรือ Hang-On แล้วกางเข่าเป็นเซนเซอร์เหมือนยุค 70’s ได้

motogp-90s-riding-styles-02
– ดังนั้นขณะที่ตัวแข่งมีพละกำลังมากขึ้น และขนาดยางที่ใหญ่ขึ้น ทำให้นักบิดใช้วิธีการเอียงรถให้ต่ำที่สุดขณะเข้าโค้งมากกว่าเดิมเพื่อลดแรงเหวี่ยง แต่ล้อหลังก็ไม่ได้มีแรงยึดเกาะมากขนาดที่จะควบคุมการไถลของมันจากนิสัยของเครื่องยนต์ 2 จังหวะที่บทจะมาก็มา บทจะไปก็ไปได้ จึงทำให้นักบิดในยุคนี้ใช้ท่านั่งขี่ที่แปลกประหลาดอย่างมากเมื่อเทียบกับยุคหลังและยุคก่อน นั่นคือการใช้ก้นและเข่า หรือลำตัวช่วงล่างเบี่ยงออกจากรถ เพื่อกดศูนย์ถ่วง และหาใช้เป็นเซนเซอร์หาลิมิตการเอียงของตัวรถ แต่ลำตัวช่วงบนจะยังคงพยายามตั้งฉากหรือเกาะอยู่กับแนวของตัวรถจนแทบเหมือนนั่งหลังตรงไปกับโค้ง ทั้งนี้ก็เพื่อคอยรอรับการเกิดอาการไฮไซด์ หรือรถไถลแล้วดีดสะบัดกลับ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากๆกับตัวแข่งในยุคนี้ และกำเนิดเป็นท่าขี่ที่เรียกว่า “Old School”

46-valentino-rossi-jerez
ยุค 2000’s (หรือยุคแรกของตัวแข่งครื่องยนต์ 4 จังหวะ)
– ในยุคนี้ นอกจากตัวแข่งจะถูกปรับมาใช้ขุมกำลังเครื่องยนต์ 4 จังหวะ ที่มีนิสัยการส่งกำลังที่กว้างไม่วูบไปวูบมาเหมือนเครื่องยนต์ 2 จังหวะ สมรรถนะของระบบกันสะเทือน และความสามารถในการยึดเกาะของยางเรียกได้ว่ายอดเยี่ยมสุดๆแล้ว ยังเป็นยุคที่ทีมแข่งเริ่มนำเทคโนโลยีระบบแทร็คชันคอนโทรลมาใช้ด้วย จึงทำให้ตัวแข่งในยุคนี้เริ่มมีสเถียรภาพในการเข้าโค้งขึ้นมากเมื่อเทียบกับตัวแข่งยุค 90’s

motogp-2000s-4-stroke-riding-styles-02
– จากเหตุผลในข้างต้น ทำให้เหล่านักบิดไม่ต้องใช้ท่าขี่แบบ Old School เพราะไม่ต้องพะวงเรื่องของอาการไฮไซด์มากเท่ากับยุค 90’s อีกแล้ว พวกเขาจึงสามารถโน้มทั้งตัวลงมาด้านในรถขณะเข้าโค้งเพื่อย้ายศูนย์ถ่วงของตนเองกับรถเข้าสู้ด้านในโค้งได้มากขึ้น

motogp-2000s-4-stroke-riding-styles-02
ยุค 2010’s (หรือยุคปัจจุบันของตัวแข่งเครื่องยนต์ 4 จังหวะ)
– แม้ตัวแข่งในยุคปัจจุบัน จะพากันใช้ขุมกำลังที่สามารถสร้างแรงม้าได้ไม่น้อยกว่า 250 ตัว แทบทั้งหมด แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด มีความละเอียด และฉลาดหลักแหลมในการทำงานมากยิ่งขึ้น ทำให้ตัวแข่งในยุคนี้มีสเถียรภาพในการเข้าโค้งสูงที่สุด (ซึ่งก็แน่อยู่แล้ว) ดังนั้นเหล่านักบิดจึงสามารถใช้ท่าทางในการเข้าโค้งที่มุ่งเน้นการกดศูนย์ถ่วงของตัวเองให้ต่ำที่สุดเท่าที่ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

marc-marquez-germangp-2018-fp2-01
ยกตัวอย่างเช่น Marc Marquez ที่ขึ้นมาแข่งในรุ่น MotoGP ครั้งแรกเมื่อปี 2013 โดดเด่นด้วยท่าขี่ที่เอาร่างกายมาจากรถทั้งตัว ขณะที่ศอกก็เช็ดพื้นเป็นทั้งเซ็นเซอร์วัดการเอียงของตัวรถตอนทิ้งโค้ง แล้วก็เป็นตัวช่วยเข่ายันรถให้ยกตัวขึ้นหากตัวแข่งเกิดอาการหน้าพับอย่างไม่ตั้งใจอีกด้วย ซึ่งอันที่จริง Marc Marquez ไม่ใช่นักบิดคนแรกที่ใช้ท่าศอกเช็ดพื้นได้ แต่เขาเป็นหนึ่งในนักบิดไม่กี่คนที่สามารถใช้ท่าขี่ศอกเช็ดพื้นได้อย่างเป็นเรื่องปกติ (นอกนั้นจะเห็นใช้ศอกเป็นครั้งคราวเมื่อตัวรถเอื้อต่อการโน้มตัวขนาดนั้นเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ใช้แทบทุกโค้งเหมือน Marc Marquez อยู่ดี) หลังจากนั้นนักบิดรุ่นใหม่ๆที่ก้าวขึ้นมาแข่งในรุ่นใหญ่ก็เริ่มมีท่าทางการขี่ที่กดร่างกายให้แนบพื้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันกลายเป็นทางทิ้งโค้งที่ใช้หัวไหล่เช็ดพื้นเข้าไปแล้ว

อ่านข่าว MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!