รีวิว BMW F900R / F900XR สัมผัสแรกคู่หู 2 สูบ 900cc Naked และ Touring ออกทริป 200 กม.+

0

BMW F900R และ BMW F900XR ถูกเผยโฉมครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฏาคม ที่ผ่านมา ในงาน Motor Show 2020 [BIMS2020] หลังจากนั้นไม่นานนัก ทาง BMW Motorrad Thailand ก็ได้จัดงานขี่ทดสอบรถมอเตอร์ไซค์น้องใหม่ทั้ง 2 โมเดลนี้ขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทีมงาน MotoRival เราก็ไม่พลาดที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบกับระยะทาง 200 กว่ากิโลเมตรท่ามกลางอุปสรรคทั้งฝนตกหนัก และแดดออกในครั้งนี้ด้วย ซึ่งสัมผัสที่ได้จะเป็นอย่างไรบ้างเรามาว่ากันใน รีวิว BMW F900R และ รีวิว BMW F900XR ในครั้งนี้กันเลยครับผม

2020-bmw-f900r-review-08
F900R ถือเป็นเนคเก็ทไบค์ หรือโรดสเตอร์ไบค์รุ่นใหม่ ที่ทาง BMW เปิดตัวมาเพื่อทำตลาดแทน F800R โฉมก่อนหน้า ซึ่งต้องบอกก่อนว่านี่ถือเป็นการปรับโฉมแบบ All-New เลยทีเดียว เพราะชิ้นส่วนทั้งคันถูกเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดท้าย โดยเฉพาะกับชุดบอดี้พาร์ทรอบคันที่ถูกปรับใหม่มีความปราดเปรียว โฉบเฉี่ยว และทันสมัยมากขึ้นราวกับเป็นรถคนละสายตระกูล หรือไม่ใช่พี่น้องกันเลยทีเดียว

2020-bmw-f900r-review-01
นอกจากนี้ไฟหน้าของมัน ก็จะเป็นแบบโคมเดี่ยว ใช้หลอด LED ข้างใน และจะมาพร้อมแถบไฟ DRL ตรงกลาง สำหรับตัวรถสีน้ำเงิน/ดำที่ราคาสูงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังเพิ่มฟังก์ชันระบบ Adaptive Cornering Light มาให้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ด้วย ในตัวรถสีแดง/เทา (Sport Style) ซึ่งช่วยได้ค่อนข้างมากเลยทีเดียวในเรื่องของการเพิ่มทัศนวิสัยยามขี่ช่วงกลางคืน หรือในที่อับแสง

2020-bmw-f900xr-review-13
ขณะที่ในฝั่ง F900XR นั้น ถือเป็นครั้งแรกที่ทาง BMW ได้ลงมาทำสปอร์ต-แอดเวนเจอร์ในพิกัดนี้ และด้วยความเป็นรหัส XR จึงทำให้ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าหน้าตาของมันนั้นจะถูกออกแบบมาให้เหมือนกับพี่ใหญ่ S1000XR ตัวล่าสุดอย่างมาก โดยเฉพาะกับดีไซน์โคมไฟ LED คู่หน้า ที่ดูแหลมคมเป็นพิเศษ รับกับดีไซน์แฟริ่งด้านข้างได้เป็นอย่างดี และเช่นเดียวกับ F900R ในตัวโคมไฟหน้าของ F900XR ก็จะมาพร้อมกับแถบไฟ DRL มาให้ด้วย แต่จะมีให้ในตัวรถถึง 2 รุ่นย่อย นั่นก็คือ ตัวรถสีแดง/เทา (Sport Style) กับ ตัวรถสี เหลืองทอง/เทา (Exclusive Style) รวมถึงระบบ Adaptive Cornering Light ก็ยังมีมาให้ทั้ง 2 รุ่นด้วยเช่นกัน

2020-bmw-f900xr-review-19
นอกจากนี้ถ้าสังเกตุที่ชิลด์หน้า หากเป็นตัวรถ F900XR รุ่นพื้นฐาน กับ F900XR รุ่น Exclusive ที่เน้นทัวร์ริ่ง จะมาพร้อมกับวินชิลด์ทรงสูง ที่ช่วยตัดลมได้เป็นอย่างดีในช่วงความสูงไม่เกินต้นคอ หากปรับสูงสุด

2020-bmw-f900xr-review-18
และอีกจุดที่เพิ่มขึ้นมาในตัวรถ F900XR – Exclusive ก็คือ ก่าร์ดแฮนด์

2020-bmw-f900xr-review-04
และในฝั่งของ F900XR รุ่น Sport Style ก็จะมาพร้อมกับการตกแต่งที่ดูสปอร์ตมากกว่าตามชื่อ นั่นคือจะได้ใช้ชิลด์สีสโม้คทรงสั้นและเตี้ย ซึ่งจะช่วยแหวกลมได้สูงเต็มที่แต่ไม่เกินระดับอกเท่านั้น แม้ปรับขึ้นในระดับสูงสุด

2020-bmw-f900xr-review-01
ข้ามมาตรงชุดถังน้ำมันพลาสติก ที่ซ่อนอยู่ด้านในแฟริ่งอีกที หากเป็นในฝั่ง F900R ก็จะให้ขนาดความจุที่ 13 ลิตร และหากเป็นฝั่ง F900XR ก็จะให้ขนาดความจุใหญ่กว่าคือ 15.5 ลิตร

2020-bmw-f900xr-review-30
ไม่เพียงเท่านั้นฝาถังน้ำมันของรถทั้ง 2 รุ่นยังเป็นแบบ Keyless เช่นเดียวกับชุดสวิทช์สตาร์ทรถ

2020-bmw-f900xr-review-08
ส่วนเบาะนั่งก็จะเป็นแบบตอนเดียวเหมือนกันทั้ง 2 รุ่น บุโฟมมาหนานุ่มอย่างดี

2020-bmw-f900r-review-07
เพียงแต่จะมีจุดแตกต่างกันอยู่เล็กน้อยคือในฝั่ง F900R จะมีการปักชื่อรุ่นตรงกลางเบาะมาให้ด้วย

2020-bmw-f900r-review-30
ไม่เพียงเท่านั้นถ้าเป็น F900R – Sport Style (สีแดง/เทา) ก็จะมีครอบท้ายเบาะมาให้ด้วย

2020-bmw-f900r-review-31
ด้านชุดไฟท้าย LED ก็จะเป็นแบบที่แยกออกมาจากท้ายรถ และไปติดตั้งแยกอยู่กับแท่นยึดป้ายทะเบียนอีกทีเหมือนกันทั้ง 2 รุ่น ซึ่งอันที่จริงการออกแบบตำแหน่งไฟท้ายและไฟเลี้ยวลักษณะนี้เป็นเอกลักษณ์ที่เห็นได้ปกติในรถมอเตอร์ไซค์ของ BMW ยุคหลังๆอยู่แล้ว

2020-bmw-f900xr-review-10
และพอมองลงมาด้านล่างก็จะเป็นชุดล้ออัลลอยด์ขอบ 17 นิ้ว รัดด้วยยางไซส์ 120/70-17 ด้านหน้า และ 180/55-17 ด้านหลัง เหมือนกันทั้ง 2 รุ่น

2020-bmw-f900xr-review-05
กลับมาอีกครั้งที่คอนโซลกลาง ซึ่งในจุดนี้เราก็จะพบกับชุดมาตรวัด หรือเอาจริงๆคือจอแสดงผลแบบ TFT ขนาด 6.5 นิ้ว ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนที่มีให้เห็นในรถมอเตอร์ไซค์ BMW รุ่นใหญ่แทบทุกรุ่นเช่นกัน โดยมันจะสามารถปรับการแสดงผลได้หลายรูปแบบพอสมควร ไล่ตั้งแต่หน้าจอหลัก ที่จะมีเกจวัดรอบ/ความเร็ว/ระดับเกียร์/และโหมดการขับขี่ หลังจากนั้นก็จะมีทั้งการแสดงผลสถานะตัวรถต่างๆ, การแสดงผลในรูปแบบ Sport Mode ที่จะมีการแสดงสถานะย่อยเพิ่มเติมจากหน้าจอโหมดปกติอีก ได้แก่ ความหน่วงที่เกิดขึ้นตอนเบรก, สถานะของระบบ DTC (Dynamic Traction Control), และองศาการเอียงขณะเข้าโค้ง

นอกจากนี้ ชุดหน้าจอของมัน ทั้งในตัว F900R และ F900XR ก็ยังสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ได้ด้วย เพื่อที่ผู้ขี่จะได้เข้าถึงระบบบันทึกข้อมูลการขี่ตลอดทริป, ระบบ GPS, การรับสายโทรเข้า หากเชื่อมต่อกับชุดหูฟังบลูทูธเสริมอีกชิ้น, รวมถึงการเล่นเพลงเป็นต้น เพียงแต่ผู้ใช้จำเป็นจะต้องโหลดแอพลิเคชันของทาง BMW เข้ามาในเครื่องก่อนถึงจะใช้ฟังก์ชันต่างๆของหน้าจอเหล่านี้ได้

2020-bmw-f900xr-review-06
และก่อนจะข้ามไปในส่วนอื่นๆต่อ เราก็จะขอพาเพื่อนๆมาชมกับชุดประกับสวิทช์แฮนด์ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ของตัวรถทั้ง 2 รุ่นก่อน นั่นก็คือจะมีทั้งสวิทช์มาตรฐานที่รถมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่มีกัน แต่ในฝั่งด้านซ้าย จะมีการเพิ่มทั้งสวิทช์ไฟฉุกเฉิน, สวิทช์ไฟควบคุมเมนูหน้าจอที่เป็นแบบปุ่มกด และแบบวงแหวนหมุนข้างปลอกแฮนด์, ปุ่มเปิด/ปิดไฟ DRL, ปุ่มปรับการทำงานของโช้กหลัง, และปุ่มควบคุมระบบครูสคอนโทรลที่จะมีมาให้เฉพาะรุ่นบนๆเท่านั้น

2020-bmw-f900xr-review-07
ขณะที่สวิชท์ด้านขวาก็จะมีการเพิ่มเข้ามาทั้ง สวิทช์เปลี่ยนโหมดการขับขี่ ขณะที่สวิชท์เปิด/ปิดระบบแฮนด์อุ่นมือที่จะมีมาให้เฉพาะรุ่นบนๆเท่านั้นเช่นกัน

2020-bmw-f900r-review-14
มิติตัวรถ BMW F900R
ยาว x กว้าง x สูง : 2,140 มิลลิเมตร x 815 มิลลิเมตร x 1,130 มิลลิเมตร
ความสูงเบาะ : 815 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ : 1,518 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรถ : 211 กิโลกรัม

2020-bmw-f900xr-review-15
มิติตัวรถ BMW F900XR
ยาว x กว้าง x สูง : 2,160 มิลลิเมตร x 860 มิลลิเมตร x 1,320 – 1,420 มิลลิเมตร (ตัวชิลด์สูง)
ความสูงเบาะ : 825 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ : 1,521 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรถ : 219 กิโลกรัม

2020-bmw-f900r-review-13
ด้านท่านั่ง ในส่วน F900R ในเบื้องต้นผู้ทดสอบพบว่า ลำตัวช่วงบนของผู้ขี่แทบไม่ต้องปรับตัวเข้าหามันเลยสักนิด เนื่องจากทั้งระยะความกว้าง และความไกลจากตัวเบาะนั่ง รวมถึงความสูงของแฮนด์บาร์เองก็ล้วนอยู่ในระดับที่พอดีกับผู้ที่สูงราวๆไม่เกิน 170 เซนติเมตรทั้งสิ้น จะหักเลี้ยวอย่างรวดเร็วเพื่อมุดช่องจราจรก็สามารถทำได้สบายๆแม้น้ำหนักตัวรถจะมากถึง 211 กิโลกรัม (ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณศูนย์ถ่วงรถที่ค่อนข้างต่ำ) หรือถ้าจะโหนรถตอนขี่เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงๆก็ทำได้อย่างไม่ติดขัดเท่าไหร่นัก เนื่องจากท่านั่งเดิมๆแบบปกติทาง BMW ก็ออกแบบให้ผู้ขี่ต้องโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กๆอยู่แล้ว

ส่วนลำตัวท่อนล่างของผู้ทดสอบในยามนั่งคร่อมบน F900R ด้วยความที่เบาะรถสูงถึง 815 มิลลิเมตร บวกกับช่วงถังน้ำมันและเบาะนั่งที่หนานิดๆ ดังนั้นกับส่วนสูงผู้ขี่ที่มีตัวเลขเพียง 168 เซนติเมตร จึงทำให้ต้องเขย่งเล็กน้อย แต่พอเอาเท้าทั้ง 2 ข้างขึ้นมาวางไว้บนพักเท้า กลับพบว่าหัวเข่านั้นต้องชันขึ้นมาสูงกว่าเนคเก็ทไบค์ทั่วๆไปพอสมควร แต่ด้วยระยะการถอยที่ไม่มากเท่าไหร่นัก จึงทำให้ผู้ขี่ยังสามารถใช้เท้าทิ้งน้ำหนักเพื่อจิกรถตอนเข้าโค้งได้อย่างพอดิบพอดี ไม่มีฝืนทำแต่อย่างใด

2020-bmw-f900r-f900xr-review-31
ในขณะเดียวกัน พอย้ายไปขี่ตัวรถ F900XR ที่เป็นสปอร์ต-แอดเวนเจอร์ แถมตัวรถที่ผู้ทดสอบได้ขี่ยังเป็น Sport Style จึงทำให้ผู้ทดสอบพบว่า แม้แฮนด์บาร์ของมันจะสูงขึ้นกว่า F900R แต่ท่านั่งก็ยังต้องโน้มไปช้างหน้านิดๆอยู่ดี ขณะที่ความกว้างแฮนด์บาร์เองก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถมุดได้สบายๆ (ถ้ากะระยะดีๆ)

ด้านเบาะที่สูงขึ้นมาเป็น 825 มิลลิเมตร ก็ไม่ได้ถือว่าน่าแปลกใจและสร้างความหวั่นใจเท่าไหร่นัก เพราะยังอยู่ในระดับที่สามารถใช้อุ้งเท้าแตะพื้นทั้ง 2 ข้างได้ หรือเหยียบเต็มฝ่าเท้าด้านใดด้านหนึ่งได้โดยไม่ต้องย้ายก้น ขณะที่พักเท้านั้น เรียกได้ว่าทาง BMW ออกแบบมาให้ตำแหน่งค่อนไปทางสปอร์ตสมชื่อจริงๆเลยทีเดียว เพราะมีความสูงที่มากพอจนรู้สึกว่าผู้ขี่ต้องชันเข่าเล็กๆไม่เหมือนการขี่แอดเวนเจอร์ไบค์ทั่วๆไป แต่แน่นอนว่าพอเป็นเช่นนี้มันก็ทำให้เวาที่ต้องทิ้งโค้งขึ้นมาผุ้ทดสอบรู้สึกมั่นใจเป็นอย่างมาก เพราะสามารถทิ้งน้ำหนักลงพักเท้าได้เต็มๆ แถมต้นขายังกระชับกับถังน้ำมันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

2020-bmw-f900xr-review-14
อย่างไรก็ดี หากเป็นตัวรถ F900XR ตัวพื้นฐาน กับตัว Exclusive นั้น จะมีการเซ็ทท่านั่งที่ต่างออกไปจากตัว Sport Style เพราะแฮนด์บาร์ จะมีความถอยเข้ามาหาตัวผู้ขี่มากขึ้น ช่วยให้ลำตัวช่วงบนมีความหลังค่อนข้างตรง และในขณะเดียวกันพักเท้าเองก็จะมีความต่ำกว่าเช่นกัน ทำให้ท่านั่งโดยรวมมีความสะดวกสบายกว่ามาก เหมาะสำหรับการใช้งานเชิงทัวร์ริ่งจริงๆ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบุกคลิกในการใช้งานที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน ระหว่าง F900XR STD/Excusive กับตัว F900XR Sport Style

2020-bmw-f900r-review-10
มาถึงไฮไลท์สำคัญอย่างเครื่องยนต์บ้าง ซึ่งในตัวรถ F900R และ F900XR ทั้ง 2 รุ่นก็จะใช้ขุมกำลังแบบ 2 สูบเรียง DOHC ระบายความร้อนด้วยน้ำ ที่ยกมาจากF850GS แต่มีการปรับเพิ่มความจุขึ้นจาก 853cc เป็น 895cc ส่งผลให้พละกำลังสูงสุดของมันขยับขึ้นเป็น 105 HP ที่ 8,750 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุดอีก 92 นิวตันเมตรที่ 6,500 รอบ/นาที พร้อมปรับเพลาข้อเหวี่ยงใหม่เพราะลดแรงสั่นสะเทือนลงช่วยให้การขับขี่เป็นไปอย่างนุ่มนวลมากขึ้น

2020-bmw-f900xr-review-20
นอกจากนี้ในเรื่องของระบบส่งกำลังเอง ทาง BMW ยังติดตั้งชุดสลิปเปอร์คลัทช์มาให้แล้วเรียบร้อย รวมถึงระบบควิกชิฟท์เตอร์แบบ 2 ทาง ขึ่น/ลง ที่สามารถทำงานได้อย่างเรียบเนียนตั้งแต่เกียร์ 3-6 ส่วนในจังหวะต่อเกียร์ 1-2 และ 2-3 นั้นจะมีอาการกระตุกเล็กๆหากเตะผิดจังหวะ แต่ถ้าหากขี่จนจับจังหวะได้แล้วก็จะไม่ค่อยมีปัญหากับจุดนี้เท่าไหร่นัก

โดยจากการใช้งาน ตัวผู้ทดสอบพบว่า แม้เคร่ื่องยนต์ของมัน จะเป็นแบบ 2 สูบเรียง แต่ย่านกำลังกลับมีให้เล่นค่อนข้างกว้างมากๆ เรียกได้ว่ามีให้เรียกใช้ตั้งแต่รอบต้นจรดรอบปลาย เพียงแต่ถ้าจะให้พูดถึงอัตราการตอบสนองต่อคันเร่ง รวมถึงการทำงานของระบบแทร็คชันคอนโทรลที่ทำได้ค่อนข้างเนียน จุดนี้คงต้องแยกตามโหมดการขับขี่ที่ใช้งาน ณ ขณะนั้นอยู่เป็นข้อๆไป นั่นคือ

2020-bmw-f900r-f900xr-review-32
ในโหมด Rain คันเร่งจะมีความนิ่มนวล อัตราเร่งหน่วงนิดๆ แถมแทรคชันคอนโทรล ก็จะทำงานไวกว่าปกติด้วยเพื่อความปลอดภัย
ในโหมด Road คันเร่งก็จะมาแบบกลางๆ อัตราเร่งติดมือพอประมาณ ขณะที่แทรคชันคอนโทรลก็จะทำงานในจังหวะที่ล้อกำลังจะเริ่มปัดได้อย่างพอดีพอดี
ในโหมด Dynamic ก็จะมีการตอบสนองคันเร่งที่ฉับไว และอัตราเร่งก็ติดมือเป็นอย่างมาก รวมถึงแทรคชันคอนโทรลเองก็จะปล่อยให้ล้อหลังปัดได้นิดๆแล้วถึงค่อนหน่วงกำลังเครื่องเอาไว้จนกว่าจะถึงจุดที่ความเร็วเหมาะสม สร้างความสนุกให้กับผู้ทดสอบได้เป็นอย่างดี ชนิดที่ว่าถ้าถนนไม่เปียกจริงๆก็แทบไม่อยากจะปรับไปใช้โหมดการขับขี่แบบอื่นๆเลยถ้าสถานการณ์นท้องถนนไม่บีบจริงๆ เช่นฝนตกเป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับเครื่องยนต์ที่จะปรับเปลี่ยนไปตามโหมดการขับขี่ด้วยก็คือ การทำงานของสลิปเปอร์คลัทช์ ที่จะเพิ่มลดแรงเอนจิ้นเบรกที่ส่งมายังล้อหลังตามโหมดที่ใช้อยู่ด้วยเช่นกัน กล่าวคือหากเป็นโหมด Rain เอนจิ้นเบรกก็จะส่งมาที่ล้อหลังเยอะหน่อยเพื่อให้ล้อหลังช่วยหน่วงความเร็วรถลงให้มากที่สุดโดยที่ล้อหลังไม่ล็อคเพื่อความปลอดภัย ขณะที่ในโหมด Road และ Dynamic ก็จะควบคุมเอนจิ้นเบรกให้น้อยลงเพื่อความสนุกและความฉับไวในการเข้าโค้งแทน

2020-bmw-f900r-review-09
ด้านระบบกันสะเทือนของรถทั้งสองคัน ถ้ามองโดยผิวเผิน จะเห็นได้ว่ามันมีหน้าตาที่เหมือนกันทั้ง 2 รุ่น นั่นคือจะเป็นแบบตะเกียบคู่หัวกลับทำงานร่วมชุดกันสะบัด ติดตั้งไว้ใต้แผงคอล่าง ด้านหน้า และ ด้านหลัง ก็จะเป็นโช้กเดี่ยวปรับพรีโหลดได้ด้วยการขันสตรัท ในตัวล่าง หรือจัดเต็มด้วยโช้กปรับไฟฟ้า Dynamic ESA ที่จะปรับและแปรผันความหนืดในการยืด/ยุบของโช้กตลอดเวลาที่ใช้งาน ตามโหมดการขับขี่ที่เซ็ทเอาไว้ ในตัวรถรุ่นกลางกับรุ่นบน

ขณะที่ความรู้สึกของช่วงล่าง หากเป็นในฝั่ง F900R ด้วยความเป็นตัวรถเนคเก็ทไบค์ ที่ใช้ช่วงยุบระบบกันสะเทือนมา 135 มิลลิเมตร ด้านหน้า และ 142 มิลลิเมตรด้านหลัง บวกกับพรีโหลดเดิมๆที่แข็งนิดๆ จึงทำให้ผู้ทดสอบรู้สึกว่าระบบกันสะเทือนของตัวรถรุ่นนี้มีความกระด้างพอประมาณ หากขี่บนถนนแล้วเจอหลุมหรือช่วงที่ผิวถนนไม่เรียบ ผู้ขี่จะรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้ค่อนข้างชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปรับไปขี่ในโหมด Dynamic ที่ความหนืดของโช้กจะมีความกระชับเป็นพิเศษ แต่ในทางกลับกันหากเป็นการพลิกเลี้ยว มันก็จะแลกมาซึ่งความรู้สึกที่มั่นคงและมั่นใจอย่างมากเรียกได้ว่าถูกใจสายซิ่งพอสมควร แต่ถ้าปรับไปขี่ในโหมด Rain ตัวโช้กก็จะมีความหนืดขึ้นมากอีกพอประมาณ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการถ่ายน้ำหนักไปลงที่ล้อมากเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มแรงยึดเกาะตอนถนนเปียก

2020-bmw-f900xr-review-09
ส่วนในฝั่ง F900XR ที่เป็นรถมอเตอร์ไซค์แนวสปอร์ต-แอดเวนเจอร์ ก็ย่อมแน่นอนว่าระบบกันสะเทือนจะถูกเซ็ทระยะยุบมากว้างกว่า F900R นั่นคือ 170 มิลลิเมตร ด้านหน้า และ 172 มิลลิเมตร ด้านหลัง ดังนั้นหากกล่าวถึงการซับแรง เจ้า XR คันนี้จึงถือว่าทำได้ดีกว่าฝนฝั่ง R มากๆ แต่ถ้าให้เทียบกับแอดเวนเจอร์ทัวร์ริ่งแท้ๆ มันก็ยังไม่ได้ซับแรงหมดจดขนาดนั้นอยู่ดี เพราะยังไงก็ต้องไม่ลืมว่านี่คือตัวรถที่ถูกตั้งโจทย์การใช้งานเอาไว้เพื่อวิ่งถนนดำด้วยความเร็วปานกลาง-สูงเป็นหลัก ดังนั้นตัวโช้กจึงยังมีความเฟิร์มนิดๆไม่ได้โยกหรือโยนไปมาเหมือนรถที่ต้องเผื่อการทำงานของโช้กหน้า/หลังไว้วิ่งบนทางฝุ่นเลยสักนิด

2020-bmw-f900r-review-02
ขณะที่ระบบเบรกก็เป็นแบบดิสก์คู่ขนาด 320 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับเรเดียลเมาท์คาลิปเปอร์ 4 พอร์ทจาก Brembo ด้านหน้า และ ดิสก์เดี่ยวขนาด 265 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับโฟลทติ้งเมาท์คาลิปเปอร์ 1 พอร์ทจาก Brembo เช่นกัน ทางด้านหลัง พร้อมติดตั้งระบบ ABS Pro และ Dynamic Brake Control (DBC) มาให้เหมือนกันทั้ง F900R และ F900XR

และถ้าหากพูดถึงการทำงานของระบบเบรก ทางผู้ทดสอบต้องขอชมจากใจเลยว่าทาง BMW ปรับเซ็ทการทำงานระบบเบรกของรถทั้ง 2 รุ่นมาได้ดีมากๆตามมาตรฐานของทางค่ายเช่นเคย นั่นคือไม่ได้จับแบบฉับไวในตอนแรกให้เหวอแต่อย่างใด แต่หลังจากนั้นหากผู้ขี่ลองเพิ่มน้ำหนักนิ้วเข้าไปอีกนิดตัวปั๊มเบรกก็พร้อมจะจับจานเบรกอย่างรวดเร็วทันที สร้างความมั่นใจในการหยุดชะลอรถเป็นอย่างมาก และเอาอยู่แน่นอนกับความเร็วและน้ำหนักตัวของรถที่มากถึง 211 กิโลกรัม ในตัว F900R และ 219 กิโลกรัมในตัว F900XR

2020-bmw-f900xr-review-11
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือลักษณะการทำงานของระบบ ABS Pro ของรถมอเตอร์ไซค์ทั้ง 2 รุ่น ที่ไม่ใช่แค่เพียงสามารถจับ/ปล่อย คาลิปเปอร์เบรกทั้งด้านหน้าและหลังในยามที่ล้อล็อคได้อย่างเรียบเนียน แต่ยังสามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะที่รถกำลังเอียงหรือเลี้ยวโค้งได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย นอกจากนี้ทาง BMW ยังบอกอีกว่าถ้าหากเราขี่ๆอยู่แล้วเบรกจนรถหลุดจากถนนดำเป็นถนนลูกรังขึ้นมา ตัวระบบ ABS นี้ก็จะสามารถแปรผันอัตราการจับ/ปล่อยคาลิปเปอร์ให้เหมาะสมตามสภาพพื้นผิวถนน ณ ขณะนั้นด้วย

อย่างไรก็ดีผู้ทดสอบต้องเรียนตามตรงว่าไม่ได้ลองทดสอบดูว่ามันทำได้ดีจริงมั้ยกับ F900R และ F900XR แต่จากที่เคยทดสอบระบบนี้กับพี่ใหญ่สายทัวร์ริ่งอย่าง R1250GS ที่เคยทำรีวิวไปเมื่อปีก่อน ต้องบอกว่า BMW ออกแบบและพัฒนาระบบความปลอดภัยนี้ได้ดีจริงๆสมกับที่พวกเขาเคลมเอาไว้

2020-bmw-f900r-f900xr-review-33
สรุป รีวิว BMW F900R และ F900XR ในครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ที่กำลังมองหารถมอเตอร์ไซค์ระดับกึ่งๆเฮฟวี่-มิดเดิลเวทอยู่เลยทีเดียว เพราะหากให้ลองมองรถมอเตอร์ไซค์รุ่นต่างๆในตลาดที่ใช้พิกัดเครื่องยนต์เดียวกัน หรือในเรทราคาที่เท่าๆกันตอนนี้ ต้องบอกว่าไม่มีรถมอเตอร์ไซค์ของค่ายไหนเลยที่ให้ระบบความปลอดภัยมาเทียบเท่า F900R และ F900XR

ขณะที่การตอบโจทย์ในการใช้งาน ในฝั่ง F900R เอง ก็ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบอารมณ์แบบโรดสเตอร์ไบค์ที่อยากเรารถไปใช้งานในเมือง หรือออกทริปในระยะใกล้ๆได้เป็นอย่างดี เพราะตัวรถมีทั้งบุคลิกที่ดุดันในยามที่ผู้ขี่นึกสนุก และมีทั้งบุคลิกนุ่มนวลในยามที่ผู้ใช้อยากขี่ชิลๆสบายๆให้เลือกใช้ แม้แต่ตัวรถ F900XR เองก็ตอบโจทย์ผู้ที่รักการเดินทาง แต่ยังไม่อยากทิ้งลวดลายการทิ้งโค้งด้วยความเร็วสูงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวรถ Sport Style ที่ถ้าหากเพื่อนๆสายสปอร์ตคนไหนได้ลองล่ะก็ งานนี้อาจจะมีปันใจให้กับมันไม่มากก็น้อยแน่นอน

2020-bmw-f900r-eicma2019-06
ด้านราคาของ BMW F900R และ F900XR ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ก็จะมีราคาดังนี้

บีเอ็มดับเบิลยู F 900 R
495,000 บาท สำหรับสี Black Storm Metallic (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
520,000 บาท สำหรับสี Hockenheim Silver Metallic / Racing Red (Sport Style) (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
525,000 บาท สำหรับสี San Marino Blue Metallic (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

2020-bmw-f900xr-eicma2019-05
บีเอ็มดับเบิลยู F 900 XR
535,000 บาท สำหรับสี Light White (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
550,000 บาท สำหรับสี Racing Red (Sport Style) (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
550,000 บาท สำหรับสี Galvanic Gold Metallic (Exclusive Style) (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

โดยหากเพื่อนๆคนไหนสนใจอยากลองทดสอบตัวรถทั้งสองรุ่น สามารถติดต่อสอบถามกับศูนย์บริการรถมอเตอร์ไซค์ BMW Motorrad ทั่วประเทศได้เลยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปครับ

ขอขอบคุณทาง BMW Motorrad Thailand ที่ให้โอกาสทีมงาน MotoRival เป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบ BMW F900R และ BMW F900XR ในครั้งนี้
– รณกฤต ลิมปิชาติ : Test Rider, Photos, Writer

อ่านข่าว BMW เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!