Tips Trick : ตัวเลขต่างๆ บนน้ำมันเครื่อง มีความความหมายอย่างไร มาตรฐาน API, SAE, และ JASO คืออะไร มาหาคำตอบกัน

0

หนึ่งในการดูแลรักษารถมอเตอร์ไซค์คู่ใจของเราที่สำคัญมากๆ หรือเผลอๆอาจจะสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะทางที่กำหนด ซึ่งในการเปลี่ยนแต่ละครั้งนั้นถ้าเพื่อนๆคนไหนให้ช่างเปลี่ยนให้ก็ดีไป แต่ถ้าเพื่อนๆคนไหนอยากเปลี่ยนเองก็คงต้องทำการบ้านมาซักหน่อยว่าไอ้ตัวอักษร API, SAE, และ JASO ที่ปรากฏบนกระปุกน้ำมันเครื่องนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งบทความ Tips Trick ครั้งนี้ เราก็จะขอพูดถึงความหายต่างๆค่าเหล่านี้กันครับ

api-standard-01
1. “มาตรฐาน API” หมายถึงระดับคุณภาพของน้ำมันเครื่อง ซึ่งค่านี้จะนับตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น API SA, API SB, API SC เป็นต้นและจะนับแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยค่ามาตรฐานสูงสุดที่มีอยู่ตอนนี้คือลำดับ SN แต่เราเชื่อว่าอีกไม่นานนับจากนี้เหล่าผู้ผลิตน่าจะสร้างน้ำมันเครื่องที่ดีจนถึงระดับ SO ได้ในเร็วๆนี้ เพราะตัวมาตรฐาน SN นั้นปรากฏมาตั้งแต่ปี 2010 แล้ว

Review-Mobil-Super-Moto_3(เพิ่มเติม สำหรับการนับลำดับ API S_ นั้นจะใช้กับน้ำมันเครื่องของยานพาหนะที่เติมน้ำมันเบนซินเท่านั้น ส่วนยานพาหนะที่เติมน้ำมันดีเซลจะนับเป็น API C_ แทน และถ้าน้ำมันเครื่องตัวไหนบอกมาตรฐาน API มาทั้งสองค่า เช่น SN / CK-4 ก็หมายความว่ามันใช้ได้กับเครื่องยนต์ทั้งสองประเภทนั่นเอง)

sae-standard-01
2. “มาตรฐาน SAE” จะเป็นค่าที่บ่งบอกถึงความหนืดของน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆคือ

2.1 แบบ Mono-Grade ที่จะบอกค่าความหนืดค่าเดียว โดยค่าความหนืดที่ว่านี้จะวัดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำงานได้ดีแค่ในบางช่วงอุณหภูมิเท่านั้น ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องเลือกความหนืดให้เหมาะสมกับการใช้งานของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าหนืดเกินไป ในช่วงอุณหภูมิต่ำ น้ำมันเครื่องจะไม่สามารถไหลเข้าไปปกป้องชิ้นส่วนก่อนสตาร์ท หรืออาจจะทำให้เครื่องปั่นรอบช้าได้ แต่ถ้าลื่นเกินไป ในช่วงรอบสูงตัวน้ำมันเครื่องก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีพอ เพราะหลอมเหลวด้วยความร้อนจนไหลอกจากผิวของชิ้นส่วนไปหมด แต่ด้วยราคาที่ถูกมันจึงเหมาะกับรถมอเตอร์ไซค์แม่บ้านที่ไม่ค่อยได้ใช้งานหนักจนอุณหภูมิของเครื่องยนต์ขณะใช้งานสูงขึ้นจากตอนก่อนจากสตาร์ทมากเท่าไหร่

2.2 แบบ Multi-Grade ที่จะบอกค่าความหนืดอยู่สองค่า นั่นก็คือค่าความหนืดในช่วงอุณหภูมิต่ำ ราวๆ -17.8 องศาเซลเซียส ทำให้ค่าแรกมีตัวอักษร “W” ซึ่งย่อมาจาก “Winter” ห้อยท้ายเสมอ ส่วนค่าความหนืดที่สองเป็นค่าที่วัดได้ในช่วงอุณหภูมิสูง นั่นก็คือ 100 องศาเซลเซียส ดังนั้นข้อดีของน้ำมันเครื่องแบบสองเกรดนี้ก็คือการที่ในช่วงอุณหภูมิต่ำหรือก่อนสตาร์ทมันยังสามารถไหลเข้าไปตามช่องว่างต่างๆเพื่อปกป้องพื้นผิวชิ้นส่วนได้ดีเพราะไม่หนืดมากมายนัก แต่เมื่อเครื่องยนต์ถูกเค้นรอบใช้งานหนักๆมันก็สามารถเพิ่มความหนืดของตัวเองให้สูงขึ้นเพื่อรองรับกับความร้อนและแรงภาระของเครื่องยนต์ที่หนักหน่วงขึ้น

jaso-standard-01
3. “มาตรฐาน JASO” เป็นมาตรฐานใหม่ที่กำหนดโดยประเทศญี่ปุ่น เพื่อแบ่งแยกชนิดความเสียดทานของน้ำมันเครื่องให้เหมาะระบบคลัทช์ของเครื่องยนต์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ค่าดังนี้

Review-Mobil-Super-Moto_63.1 JASO MA เหมาะสำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบคลัทช์เปียก(กลุ่มรถมอเตอร์ไซค์มีเกียร์) เพราะน้ำมันเครื่องที่ได้มาตรฐานนี้จะมีค่าความเสียดทานสูงจึงช่วยให้คลัทช์ที่แช่อยู่ในน้ำมันเครื่องตลอดเวลาสามารถจำตัวได้ง่ายขึ้น โดยในมาตรฐาน MA นี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น MA1 และ MA2 ตามลำดับค่าความเสียดทานที่วัดได้อีกทีหนึ่งด้วย

Review-Mobil-Super-Moto-Scooter_53.2 JASO MB เหมาะสำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบคลัทช์แห้ง(กลุ่มรถมอเตอร์ไซค์ออโตเมติก) เพราะค่าความเสียดทานของน้ำมันเครื่องที่ได้ค่ามาตรฐานนี้จะถือว่าต่ำกว่าค่าแรกเพราะในเมื่อชุดคลัทช์ไม่ได้ถูกนำมาแช่ในน้ำมันเครื่องรวมกับชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์อีกต่อไป ดังนั้นมันจึงไม่ต้องการความฝืดเพื่อทำให้คลัทช์จับตัวง่ายขึ้นเหมือนฝั่ง JASO MA

เพิ่มเติมอีกนิด สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่ใช้มอเตอร์ไซค์ออโตเมติกอยู่สามารถใช้น้ำมันเครื่องได้ทั้งสอง JASO เพราะถึงเพื่อนๆใส่ตัว MA ไปก็ไม่ได้มีผลต่อคลัทช์อยู่แล้ว เนื่องจากมันแยกตัวออกไปด้านนอก แต่ถ้าเพื่อนคนไหนใช้รถมอเตอร์ไซค์แบบมีเกียร์อยู่ ถ้าเป็นไปได้ก็หลักเลี่ยงอย่าไปใช้น้ำมันเครื่องของฝั่งออโตเมติกเขานะครับ ไม่งั้นอาจจะเกิดอาการคลัทช์ลื่นไม่รู้ตัว (คืออาจจะไม่ได้รู้สึกได้ชัดเจนขนาดนั้น แต่ก็เสี่ยงหน่อยๆอยู่ดี)

ขอบคุณภาพจาก Totachi, Pqiamerica, Spyderlover

อ่านบทความ Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!