Tips Trick: กระโหลกคลัทช์กัดลาย คืออะไร ? ทำแล้วช่วยยังไง ?

0

“กระโหลกคลัทช์กัดลาย” อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าไหร่นักในวงการรถมอเตอร์ไซค์ออโตเมติกของบ้านเรา แต่เชื่อว่าจะต้องมีเพื่อนๆมือใหม่หัดแต่งรถหลายท่านที่ยังไม่ทราบว่าเจ้าของแต่งชิ้นนี้มันช่วยอะไรได้บ้างเมื่อติดตั้งเข้าไป ดังนั้นในบทความ Tips Trick ครั้งนี้ เราจึงขอพาเพื่อนๆมาให้ข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันดีกว่าครับ

clutch-bell-003
ก่อนอื่น คำว่า “กระโหลกคลัทช์” แท้จริงแล้วคือ “เรือนคลัทช์ตัวนอก” ที่มีไว้เพื่อให้ “ก้อนคลัทช์แรงเหวี่ยง” ที่อยู่ด้านในกาง และจับตัวกับตัวมัน เพื่อถ่ายกำลังจากเคร่ื่องยนต์ที่ส่งมาทางสายพาน ให้ข้ามไปสู่ชุดเฟืองท้ายแล้วลงไปที่ล้อหลัง ซึ่งในการใช้งานช่วงแรก หรือกับรถเครื่องเดิมๆออกโรงงานที่ไม่แรงมาก ผิวหน้าสัมผัสของกระโหลกคลัทช์ด้านใน อาจจะมีความสากมากพอตัวคลัทช์จะสามารถสร้างแรงเสียดทานและยึดเกาะกับกระโหลกคลัทช์เพื่อถ่ายกำลังระหว่างกันได้

centrifugal-clutch-kit-003
แต่พอใช้งานนานๆไป ตัวหน้าสัมผัสของกระโหลกคลัทช์ก็จะเรียบขึ้นเรื่อยๆ (นึกถึงกระดาษทราย ที่ยิ่งใช้ก็จะยิ่งสากน้อยลงเรื่อยๆ) พอบวกกับเศษฝุ่นที่เกิดจากตัวคลัทช์เอง มันก็จะเคลือบหน้าผิวสัมผัสของกระโหลกคลัทช์ด้านในด้วย ทำให้มันจับตัวได้ไม่ดี หรือตัวเพื่อนๆอาจจะไปอัพสเต็ปเครื่องยนต์ให้แรงขึ้นกว่าเดิมมากๆ ตัวคลัทช์เดิมๆก็อาจจะสร้างแรงเสียดทานแล้วยึดเกาะกับผิวสัมผัสของกระโหลกคลัทช์ด้านในได้ไม่เพียงพอเช่นกัน จึงทำให้ท้ายที่สุดเกิดอาการคลัทช์ลื่น ดังแต่ท่อ ล้อไม่ไป หรือในบางครั้งก็อาจจะมีอาการจับๆลื่นๆเป็นจังหวะๆในช่วงรอบความเร็วต่ำ จนเกิดอาการออกตัวกระตุกเพิ่มขึ้นอีก

clutch-bell-mod-003
ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ช่างหลายคน จึงเลือกที่จะเอากระโหลกคลัทช์ที่ว่า มากัดลายผิวสัมผัสด้านใน เพื่อให้มีความสาก หรือขึ้นเป็นรอยคมมากขึ้นจากปกติ เพื่อที่กระโหลกคลัทช์จะได้สามารถจิก เกี่ยวและเกาะกับผ้าคลัทช์ด้านในได้ดียิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันยังมีผลพลอยได้คือ ช่วยลดปัญหาฝุ่นคลัทช์เคลือบผิวสัมผัสด้านในจนเงาและลื่นได้อีกด้วย เนื่องจากร่องของผิวสัมผัสที่เกิดจากการกัดลายนั้นลึกพอที่จะทำให้เศษฝุ่นจากผ้าคลัทช์สามารถปลิวออกจากหน้าสัมผัสไปได้

centrifugal-clutch-003
อย่างไรก็ดี ข้อเสียของการใช้กระโหลกคลัทช์กัดลายก็คือ เสียงที่เกิดขึ้นจากการเสียดสีตอนคลัทช์ยังไม่ยอมจับตัว จะดังกว่าปกติพอสมควรจนน่ารำคาญ (ทั้งนี้ก็แล้วแต่สูตรการกัดลายของแต่ละสำนักด้วย) และหากเพื่อนๆใช้กระโหลกคลัทช์กัดลาย กับผ้าคลัทช์เดิมๆ คราวนี้ก็จะกลายเป็นว่าผ้าคลัทช์จะสึกหรอและหมดไวมากขึ้น เนื่องจากลายบนผิวสัมผัสของกระโหลกคลัทช์ด้านในจะกินผ้าคลัทช์พอสมควร ดังนั้นเมื่อเพื่อนๆเปลี่ยนมาใช้กระโหลกคลัทช์กัดลายแล้ว ก็จึงควรที่จะเปลี่ยนผ้าคลัทช์ให้เป็นเกรดที่เนื้อแข็งขึ้นด้วย อย่างเช่นก้อนคลัทช์คาร์บอน เป็นต้น

อ่าน Tips Trick เทคนิคที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

Background EXP in Automotive journalists more than 10 Years Writer & Test Driver @Pantip Garage 2018-Present @9carthai 2015- 2017 @Torque & VIPStyle Magazine 2015 @Autospinn 2012-2015 @GTmania.tv 2009-2010

error: Content is protected !!