Tips Trick : ไม่มีควิกชิฟท์ แต่อยากสับเกียร์ขึ้น/ลงต่อเนื่องแบบไม่ต้องกำคลัทช์ ทำยังไง ? มีผลดี/เสียอย่างไร ?

0

ระบบควิกชิฟท์เตอร์ ถือเป็นของเล่นที่กลายเป็นฟีเจอร์หลักในเหล่าซุปเปอร์ไบค์หลายหลายรุ่นของช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมันช่วยให้การต่อเกียร์ทั้งขาขึ้นและลงมีความฉับไวมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียจังหวะไปกับการกำคลัทช์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากเวลาขี่ในสนามที่หากช้าไปเพียงเสี้ยววินาที ก็อาจทำให้เราแพ้ได้ แล้วถ้าเกิดเราอยากทำให้รถมอเตอร์ไซค์ของเรา ซึ่งไม่มีควิกชิฟท์เตอร์เลย สามารถสับเกียร์ขึ้น/ลงโดยไม่ต้องกำคลัทช์ได้บ้าง ต้องทำยังไงล่ะ ? ในวันนี้เราจะมาบอกทริกดังกล่าวกันครับ

honda-seamless-gearbox
ก่อนอื่น เราอยากให้เพื่อนๆทำความเข้าใจก่อนว่า การสับเกียร์ขึ้นในจังหวะที่เครื่องยนต์ยังคงเร่งอยู่ หรือการสับเกียร์ลงขณะที่เราปิดคันเร่งหมดจนเอนจิ้นเบรกดึงรถให้ช้าลงนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากมีแรงกระทำระหว่างเฟืองเกียร์ต้นกับเกียร์ตามอยู่ ถ้าฝืนจะเข้าเกียร์ทั้งอย่างนั้น ถ้าไม่ก้านเกียร์จะแข็งมากๆตอนเตะขึ้น/ลงแล้ว เฟืองเกียร์ก็อาจจะรูด จนถึงขั้นแตกหักแล้วพังเสียหายทั้งยวงเลยก็ได้

what-is-clutch-friction-zone-03
ดังนั้นเพื่อให้เราสามารถเสับเกียร์เพื่อไต่ระดับความเร็วได้ เราจึงจำเป็นจะต้องลดแรงกระทำที่ส่งมาจากเครื่องยนต์ก่อน ซึ่งเราก็ทำได้ง่ายๆด้วยการกำคลัทช์ เพื่อตัดกำลังดังกล่าว ไม่ให้เข้ามามีผลกับชุดเฟืองเกียร์อีกต่อไป ซึ่งนี่คือหลักการขึ้นต้นของการเข้าเกียร์ในแบบพื้นฐาน และปลอดภัย อย่างที่เราทำกันมาโดยตลอด


แต่อย่างที่บอกว่าในครั้งนี้ เราจะใช้วีธีสับเกียร์ โดยไม่ต้องกำคลัทช์ ซึ่งอันที่จริงวิธีก็ไม่ได้ซับซ้อนเท่าไหร่นัก เพราะวิธีก็มีง่ายๆแค่เพียง หากเพื่อนๆต้องการจะสับเกียร์ขึ้น ก็ให้ปิดคันเร่งอย่างรวดเร็ว แล้วเตะเกียร์ขึ้นไปพร้อมๆกัน อย่าเร็วไป หรือช้าไป เพื่อที่จะได้อาศัยจังหวะเครื่องยนต์ยังไม่ลดรอบเครื่องตัวเองลงจนมีเอนจิ้นเบรกมายังเฟืองเกียร์เสียก่อน ก็เท่านั้น (สังเกตช่วง 10 วินาทีแรกของคลิป) ซึ่งเอาจริงๆแล้วนี่ก็เป็นหลักการเดียวกับที่ควิกชิฟท์เตอร์ทำงานกับเครื่องยนต์ของเรา เพราะถ้าเพื่อนๆเคยอ่านในบทความก่อนหน้านี้ ก็คงจะพอทราบว่ามันมีหน้าที่ตัดการทำงานของเครื่องยนต์ในจังหวะเสี้ยววินาทีที่เราเตะเกียร์ เพื่อไม่ให้มีแรงกระทำจากเครื่องยนต์ส่งมาที่ชุดเกียร์นั่นเอง

tips-trick-x-gpx-how-to-adjust-clutch-lever-06
ส่วนการสับเกียร์ลง จะซับซ้อนกว่าหน่อย เพราะในจังหวะที่เพื่อนๆกำลังผ่อนคันเร่งเพื่อชะลอตัวรถอยู่ ให้เบิ้ลเครื่องทิ้งสักเล็กน้อย แค่เพื่อให้เครื่องยนต์ปั่นรอบขึ้นนิดหน่อย (ถ้าจะให้ดีให้สังเกตุว่าที่ความเร็วเท่านี้ เกียร์ต่ำกว่า รถเราใช้รอบประมาณเท่าไหร่ เพื่อความแม่นยำในการเบิ้ลเครื่อง) แล้วสับเกียร์ลงทันทีพร้อมๆกัน ห้ามเร็วไป หรือช้าไปเช่นกัน เพราะในจังหวะที่เครื่อยนต์กำลังจะเร่งรอบขึ้นกระทันหันนั้น ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ไม่มีแรงมากระทำบนชุดเฟืองเกียร์ ทำให้เราสามารถสับเกียร์ได้โดยเฟืองไม่ขืนกันนั่นเอง และแน่นอนว่านี่ก็เป็นหลักการเดียวกับที่ระบบ Auto-Blipper ทำงานในรถมอเตอร์ไซค์ที่มีควิกชิฟท์เตอร์แบบ 2-Way เช่นกัน

2015-r1-transmission
อย่างไรก็ดี การสับเกียร์แบบไม่กำคลัทช์นั้น ถ้าหากเท้าของเพื่อนๆ สับเกียร์ไม่สัมพันธ์กับคันเร่ง ทั้ง สับเกียร์ขึ้นช้าเกินไปตอนปิดคันเร่ง จนรอบตกแล้วมีเอนจิ้นเบรกมากระทำกับเฟืองเกียร์ หรือ สับเกียร์ลงช้าเกินไป แถมเบิ้ลเครื่องแรงเกินอีก จนเครื่องยนต์มีแรงส่งมาปั่นเฟืองเกียร์ก่อน งานนี้อาจจะสร้างภาระให้กับชุดเฟืองเกียร์มากมายจนสึกหรอหนัก และอาจพังในที่สุด

Motorcycle-Transmission-6-Speed
ดังนั้นก่อนจะฝึกทริคนี้ก็ระวังกันให้ดีนะครับ เพราะแม้จะเข้าเกียร์ได้เร็วขึ้นจริง แต่มันก็เพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นจากการกำคลัทช์เข้าเกียร์แบบปกติ ซึ่งมันจะคุ้มกับความเสี่ยงที่เกียร์จะแตกหรือไม่ในสายตาเพื่อนๆนั้น อันนี้ก็ต้องลองพิจารณากันดูครับ (แต่อันที่จริงเฟืองเกียร์ไม่ได้แตกง่ายๆขนาดนั้นหรอกครับ ถ้าเพื่อนๆไม่ได้สับเกียร์ขึ้นหลังปิดคันเร่ง หรือสับเกียร์ลงหลังเบิ้ลเครื่องทิ้ง แบบช้ากว่าเป็นวินาทีขนาดนั้นน่ะนะครับ)

Pon-2019-CBR500R-Chang
อ้อ ทริกนี้เหมาะสำหรับใช้ตอนรอบเครื่องยนต์อยู่ในช่วงกลาง-สูง, มีอัตราทดเกียร์ค่อนข้างชิด, หรือรถมอเตอร์ไซค์ที่มีแรงบิดในรอบต่ำๆไม่มากนักนะครับ เพราะถ้าทำตอนที่ขี่ไม่เร็วมากนัก, ใช้ตอนรอบเครื่องยนต์ต่ำเกินไป หรือใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ที่มีแรงบิดในรอบต่ำมากๆ แถมยังมีอัตราทดเกียร์ที่ห่างมากๆอีก (เช่นเหล่าครุยเซอร์ทั้งหลาย) ความผกผันของรอบเครื่องยนต์ในแต่ละเกียร์ ทีความเร็วเดียวกัน อาจจะมากไปจนเครื่องยนต์กระตุกแล้วมีผลต่อมายังชุดเกียร์อยู่ดี

อ่านบทความ Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!