Tips Trick : “Holeshot Device” คืออะไร ? ทำไมตัวแข่ง MotoGP ต้องมี ?

0

“Holeshot Device” ถือเป็นระบบกลไกสำคัญ ที่จำเป็นอย่างมากสำหรับตัวแข่งในปัจจุบัน เนื่องจากหากไม่มีมัน นักบิดอาจเสียโอกาสในการขึ้นนำ หรือถูกทิ้งห่างตั้งแต่เริ่มการแข่งขันไปเลยก็ได้ แต่มันมีไว้เพื่ออะไร มันทำงานด้วยหลักการอะไร ? ในวันนี้เรามาไขคำตอบกันครับ


โดยสิ่งที่เพื่อนๆต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างแรก ก็คือเรื่องแรงเฉื่อยที่เกิดขึ้นตอนที่รถเคลื่อนที่ กล่าวคือ ในจังหวะที่ล้อหลังกำลังหมุนเพื่อผลักดันรถให้พุ่งทะยานไปข้างหน้า มันก็จะเกิดแรงดึงจากน้ำหนักตัวรถที่สวนกับทิศการเคลื่อนที่ของตัวรถในจังหวะเวลาเดียวกัน (หรือถ้าให้เรียกแบบคุ้นหูกันหน่อย ก็คือ “แรงจี”) โดยหากแรงดึงที่เกิดขึ้นในจังหวะออกตัว มีมากกว่าแรงดึงดูดของโลกที่จะคอยดึงน้ำหนักรถให้กดลงสู่พื้น คราวนี้มันก็จะงัดล้อหน้าให้ลอยขึ้นมาและหงายหลังไปในที่สุด

tips-trick-center-of-gravity-001
แต่สิ่งที่เป็นตัวบ่งบอกว่าโอกาสที่ล้อหน้ารถจะลอยขึ้นมาตอนออกตัวจริงๆ กลับไม่ใช่น้ำหนักมวลรวมของตัวรถ แต่เป็นจุดศูนย์ถ่วง (CoG) หรือจุดศูนย์กลางของน้ำหนักตัวรถว่าอยู่ในตำแหน่งใด โดยหากมันอยู่ใกล้ล้อหลังมากไป มันก็ไม่สามารถกดล้อหน้าให้ลงต่ำได้ง่ายๆ (เพราะน้ำหนักมากองที่ล้อหลังมากกว่า) และหากมันอยู่สูงมากๆ โอกาสที่แรงเสียดทานของล้อหลังซึ่งหมุนอยู่กับพื้นเพื่อดันรถไปข้างหน้า (แรงกิริยา) จะทำให้เกิดแรงดึงสวนทิศการเคลื่อนที่ ณ ตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วง (แรงปฏิกิริยา) แล้วดึงรถให้หงายหลังก็มีสูงขึ้นด้วยเช่นกัน (หากนึกไม่ออก ให้ลองนึกถึงตอนที่มีคนมาผลักเราที่อก กับที่ขา แล้วจะพบว่าการผลักที่อกนั้น มีโอกาสหงายหลังมากกว่าที่ขาแบบคนละขั้วเลยทีเดียว)


ดังนั้น “Holeshot Device” จึงถูกออกแบบขึ้นมา เพื่อล็อคตำแหน่งของโช้กหน้าและโช้กหลังหรือสวิงอาร์มหลัง ให้ยุบตัวแล้วค้างเอาไว้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่ได้ เพื่อกดความสูงรถ หรือจริงๆคือการกดจุดศูนย์ถ่วงของรถเอาไว้ให้ต่ำที่สุด เพื่อที่เวลารถออกตัวแรงๆ โอกาสที่ล้อหน้าจะลอยแล้วหงายขึ้นมาจะได้น้อยลง ช่วยให้ผู้ขี่ไม่จำเป็นต้องชะลอจังหวะในการเปิดคันเร่ง เพื่อป้องกันอาการหน้าลอย และในเมื่อผู้ขี่ไม่ต้องชะลอการเปิดคันเร่ง ก็หมายความว่าเขาสามารถเปิดคันเร่งได้เต็มที่มากขึ้น รถก็ยิ่งสามารถออกตัวได้เร็วขึ้นตาม


ส่วนวิธีการใช้งานกลไกชนิดนี้ อันที่จริงก็ไม่ได้ซับซ้อนเท่าไหร่นัก โดยในฝั่งด้านหน้า ผู้ขี่ก็แค่เพียงเบรกให้หนัก หรือขย่มรถไปด้านหน้าให้ต่ำที่สุด จนกว่าโช้กจะยุบลงไปถึงระดับที่ตัวกลไกจะสามารถล็อคตำแหน่งการยุบตัวของโช้กเอาไว้ได้ ขณะที่ด้านหลัง หากเป็นตัวแข่ง MotoGP ทางวิศวกร ก็จะออกแบบกลไกให้ผู้ขี่สามารถสั่งการทำงานของมันด้วยคันบิดที่แผงคอ หรือคันกดที่แฮนด์บาร์ เพื่อลดระดับความสูงของท้ายรถตอนจอดอยู่กับที่ได้เลย โดยไม่ต้องมาขย่มรถใดๆเหมือนกับทางด้านหน้า และระบบจะยกเลิกการล็อคตำแหน่งการยุบของโช้กหน้า กับการยุบตัวของโช้กหลัง (หรือสวิงอาร์มหลัง)ในทันที เมื่อนักบิดกดก้านเบรกหนักๆตอนจะเข้าโค้งแรก


โดยแม้ “Holeshot Device” จะถูกนำมาใช้กับตัวแข่ง MotoGP ให้เห็นอย่างเป็นกิจลักษณะครั้งแรกเมื่อช่วงปี 2019 (กับรถของ Ducati) แต่อันที่จริงเจ้ากลไกแบบนี้ ได้ถูกนำมาใช้กับตัวแข่งโมโตครอสไม่ต่ำกว่า 10 ปีเข้าไปแล้ว

อ่าน Tip Trick เทคนิคที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!