Tips Trick : “IMU Sensor” คืออะไร ? ทำไมรถสมัยใหม่ต้องมี ?

0

บ่อยครั้งในการอ่านสเปคและรายละเอียดของตัวรถมอเตอร์ไซค์ยุคใหม่ๆ เราก็มักจะเห็นและได้ยินคำว่า “ติดตั้งเซนเซอร์ IMU” มาให้อยู่เสมอๆ ซึ่งเซนเซอร์ตัวนี้คืออะไร ? มีไว้ทำไม ? มีแล้วใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง วันนี้เรามาไขคำตอบกันครับ

tips-trick-imu-sensor-yzf-r1-001
เซนเซอร์ IMU มีชื่อเต็ม “Inertial Measurement Unit” ซึ่งแปลแบบไทยๆตรงตัวว่า “หน่วยวัดความเคลื่อนไหว” หรือเรียกให้สวยงามหน่อยก็คือ “เซนเซอร์วัดแรงเฉื่อย” โดยมันจะอาศัยหลักการของอุปกรณ์ไจโร มาทำหน้าที่คอยวัดว่า ณ ขณะนี้ ตัวมันกำลังเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน และอย่างน้อยที่สุดมันก็จะสามารถวัดแนวการเคลื่อนที่ได้อย่างน้อย 1 แกน (แนวราบ) หรือ 2 ทิศทาง (เหวี่ยงไปด้านหน้า-เหวี่ยงไปด้านหลัง) และมากสุดในตอนนี้คือ 3 แกน (แนวราบ แกน X, แนวดิ่ง แกน Y, แนวขวาง แกน Z) หรือ 6 ทิศทาง (เหวี่ยงไปด้านหน้า-เหวี่ยงไปด้านหลัง, เหวี่ยงขึ้นด้านบน-เหวี่ยงลงด้านล่าง, และ เหวี่ยงไปด้านซ้าย-เหวี่ยงไปด้านขวา) โดยในบางครั้งอาจจะมีการวัด 3 แกน แต่ทำงานเพียง 5 ทิศทางด้วย

Pon-CBR1000RR-R SP (1)
และในเมื่อเซนเซอร์ตัวนี้ มีหน้าที่คอยวัดว่าตัวมันเองกำลังเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด (ถูกเหวี่ยงไปทางไหน) ทำให้เมื่อมันถูกติดตั้งในรถมอเตอร์ไซค์แล้ว ทางผู้ผลิตก็สามารถดึงข้อมูลเหล่านี้ ไปใช้ในการประมวลผลการทำงานของระบบ ABS (จนกลายเป็น Cornering-ABS), ระบบ Traction Control, และระบบ Wheelie Control ได้เป็นต้น ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้ระบบเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์หรือการเคลื่อนที่ของรถมากขึ้นทั้งสิ้น เช่นระบบ ABS ที่จะควบคุมการจับ-ปล่อยของคาลิปเปอร์เบรกได้สัมพันธ์กับการเอียงของรถได้ จากเดิมที่ต้องคำนวนแค่ว่าล้อล็อคหรือไม่ล็อคเท่านั้น

Pon-Kawasaki-ZX-10R_2
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เซนเซอร์ IMU ต้องทำงานร่วมกับกล่อง ECU ที่ฉลาดและเร็วมากพอที่จะดึงและประมวลผลข้อมูลจากมันร่วมกันเซนเซอร์อื่นๆได้ในเวลาฉับพลัน ดังนั้นต้นทุนของระบบนี้จึงค่อนข้างสูงมากๆ ทำให้ทางผู้ผลิตมักจะติดตั้งมันกับแค่เฉพาะรถมอเตอร์ไซค์สมรรถนะสูง หรือมีราคาแพงๆเท่านั้น และด้วยความที่ระบบค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงต้องการการติดตั้งที่แม่นยำ จึงทำให้มันแทบจะนำมาติดตั้งและดัดแปลงในภายหลังไม่ได้เลย ถ้าหากช่างไม่มีฝีมือมากพอในการทำงานร่วมกับมัน

อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!