Tips Trick : การทดสเตอร์ขึ้น/ลง ทำเพื่ออะไร ? ส่งผลอย่างไรกับการใช้งานบ้าง ?

0

“การทดสเตอร์” ถือเป็นแนวคิดการปรับแต่งรถอย่างหนึ่งที่ “นักแต่งรถมือใหม่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับในหมู่ผู้ใช้รถเล็ก มักคิดอยากจะทำกับรถของตนเองเป็นอันดับแรกๆ เนื่องจากวิธีการนี้ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องยนต์ หรือระบบไฟให้ตุ้มๆต่อมๆใจเล่นว่ารถจะมีปัญหาตามมาในภายหลังหรือไม่แต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ต้องทำก็มีเพียงแค่เปลี่ยนโซ่ กับเบอร์หน้า/หลังสเตอร์ไปมา แล้วถ้าไม่ได้ความเร่งหรือความเร็วดังใจก็แค่ถอดเปลี่ยนใหม่ง่ายๆเท่านั้น

final-ratio-calculation-table-01
แต่สิ่งที่ค่อนข้างปวดหัวหรืองงงวยกันอย่างมากในช่วงแรกก็คือ แล้วต้องทดสเตอร์ยังไงล่ะถึงจะได้ความเร่งหรือความเร็วดังใจที่ตั้งใจไว้ ? ซึ่งเราก็จะบอกวิธีคิดง่ายๆดังนี้ครับ

เพิ่มสเตอร์หน้า หรือ ลดสเตอร์หลัง = ลดอัตราทดลง ส่งผลให้ความเร็วปลายที่รอบสูงสุดจะมากขึ้น แต่อัตราเร่งจะจัดน้อยลง
ลดสเตอร์หน้า หรือ เพิ่มสเตอร์หลัง = เพิ่มอัตราทดขึ้น ส่งผลให้อัตราเร่งจัดขึ้น แต่ความเร็วปลายที่รอบสูงสุดจะน้อยลง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเพิ่ม หรือ ลด สเตอร์หน้า 1 ฟัน จะมีค่าเทียบเท่ากับการเพิ่ม หรือ ลด สเตอร์หลัง ประมาณ 3 ฟัน
กล่าวคือ เพราะการขยับสเตอร์หน้าขึ้น/ลง 1 ฟัน บนสเตอร์หลังเดิม มักให้อัตราทดขั้นสุดท้ายตอนคำนวนออกมา (จำนวนฟันสเตอร์หลัง หารด้วย จำนวนฟันสเตอร์หน้า) ใกล้เคียงกับ อัตราทดขั้นสุดท้ายของการขยับสเตอร์หลัง ขึ้้น/ลง 3 ฟัน บนสเตอร์หน้าเท่าเดิม

2018-yamaha-finn-review-trip-31
แล้วเราควรจะเพิ่มหรือลดสเตอร์ดีล่ะ ? งานนี้เพื่อนๆต้องถามตนเองก่อนครับ ว่าต้องการเพิ่ม หรือลดสิ่งไหน ของตัวรถ ระหว่างเพิ่มอัตราเร่ง หรือ เพิ่มความเร็วปลาย กันแน่ ?

เพราะถ้าหากในการเดินทางไปทำงานแต่ละครั้ง เพื่อนๆจะต้องขี่ตัวรถด้วยความเร็วสูงจนส่งผลให้เครื่องยนต์ต้องปั่นรอบจัดต่อเนื่องนานมากๆในการเดินทาง หรือถนนไปทำงานเป็นเส้นถนนโล่งๆ เป็นทางตรงยาวๆ การลดฟันสเตอร์หลังลง หรือ เพิ่มฟันสเตอร์หน้าขึ้น จะเป็นตัวเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เนื่องจากเมื่ออัตราทดต่ำลง ที่ความเร็วสูงสุดเท่ากัน รอบเครื่องยนต์จะใช้น้อยกว่าอัตราทดเดิม ช่วยลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ได้ประมาณหนึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเครื่องยนต์มีแรงเหลือหรือปั่นไหว ความเร็วสูงสุดที่ได้ก็อาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากตัวรถยังมีรอบให้ไล่ความเร็วต่อ แต่ถ้าหากเราลดอัตราทดเยอะเกินไปจนเครื่องปั่นไม่ไหว แทนที่จะได้ความเร็วปลายให้ไหลเพิ่ม จะกลับกลายเป็นว่าเครื่องตื้อ บิดไม่ไป ไหลไม่ขึ้นจนความเร็วสูงสุดลดลงแทน

honda-crf250-rally-review-05
ในขณะเดียวกัน ถ้าหากการเดินทางในขีวิตประจำวันของเพื่อนๆ ต้องขึ้นทางชันตลอดเวลา, ต้องแบกของเยอะ, ใช้บุกป่าฝ่าดง, หรือใช้แค่ซอกแซกการจราจรติดๆในเมือง จึงต้องการเน้นอัตราเร่งที่ติดมือ การเพิ่มฟันสเตอร์หลังขึ้น หรือ ลดฟันสเตอร์หน้าลง จะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับการแก้ไขปัญหาตรงนี้มากกว่า เนื่องจากเมื่ออัตราทดสูงขึ้น ที่ตัวเครื่องยนต์จะสามารถส่งแรงบิดมาปั่นล้อหลังได้เต็มที่มากกว่า

แต่แน่นอนว่าในเมื่อเราเพิ่มอัตราทดขั้นสุดท้ายให้สูงขึ้น ความเร็วของรถที่รอบสูงสุดก็จะต้องลดลงตาม ซึ่งก็ต้องทำใจ เว้นเสียแต่ว่าตัวรถเดิมๆที่เพื่อนๆใช้อยู่นั้น เซ็ทอัตราทดเกียร์สุดท้ายมาแบบประหยัดรอบ ที่มักจะเกิดขึ้นในรถมอเตอร์ไซค์ประเภททัวร์ริ่ง หรือกลุ่ม 300cc-650cc ที่พอขี่ๆไปจนถึงเกียร์ 6 แล้วรอบไม่ไหลต่อ การเพิ่มอัตราทดก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์เหล่านี้ได้ความเร็วสูงสุดที่เพิ่มขึ้นแทน

อย่างไรก็ดี ทางเราไม่แนะนำให้เพื่อนๆไปลอกสูตรสำเร็จของใครมาใช้กับรถของตนเอง เพราะแต่ละคนมีปัจจัยที่ส่งผลถึงตัวรถไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรเช็คให้ดีก่อนว่าลักษณะการใช้งานของเราเหมือนกันกับผู้ให้สูตรนั้นรึเปล่า ทั้งในเรื่อง น้ำหนักตัวของเรา, น้ำหนักของสัมภาระที่ต้องแบก, ลักษณะเส้นทาง เป็นต้น

final-ratio-calculation-gearingcommander-01
และเพื่อให้การคำนวนมีความละเอียดมากขึ้น เราจึงขอแนบลิ้งค์เว็บไซต์ www.gearingcommander.com ที่ทำขึ้นมาเพื่อเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถคิดคำนวนอัตราทดของรถตนเองได้ ว่าเพิ่ม/ลดสเตอร์ไปแล้ว (รวมถึงขนาดยางที่เปลี่ยนไป) จะส่งผลถึงความเร็วสูงสุด ประผันต่อเนื่องไปถึงรอบเครื่องยนต์อย่างไรบ้าง โดยค่าต่างๆที่ในเว็บไซต์นี้มี จะเป็นค่าเฉพาะของรถแต่ละคันค่อนข้างจะครบรุ่น ซึ่งถือว่าดีมากๆเลยทีเดียว ยังไงก็ลองกดเล่นดูนะครับ เข้าใจได้ไม่ยากเลย

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก MotoGP

อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!