Tips Trick : Rev Matching คืออะไร ? ทำไมต้องเบิ้ลคันเร่ง ตอนเชนจ์เกียร์ลง ?

0

บ่อยครั้งที่เมื่อเราเห็นเหล่านักบิดขี่รถมาจนถึงจุดเข้าโค้ง สิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำมักจะไม่ได้มีแค่การเบรก แล้วแต่งตัวให้พร้อมก่อนเข้าโค้งไปเท่านั้น แต่ยังมีการลดเกียร์ลง และเบิ้ลคันเร่งเป็นจังหวะ หรือที่มักเรียกกันแบบเท่ๆว่า “Rev Matching” ด้วย ซึ่งพวกเขาทำไปเพื่ออะไร ? และหลายคนที่ทำไปเพราะไม่รู้ตัว ทำไปทำไม ? ในวันนี้เรามาหาคำตอบกันดีกว่าครับ

2021-yamaha-yzf-r15-th-dash-board01
การ “Rev Matching” แท้จริงแล้ว หมายถึง การเพิ่มเกียร์ หรือ ลดเกียร์ ให้อยู่ในจุดที่ความเร็ว และรอบเครื่องยนต์ สัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น สมมุติให้ที่ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากเป็นการวิ่งด้วยเกียร์ 4 รอบเครื่องยนต์อาจจะหมุนอยู่ที่ราวๆ 8,000 รอบ/นาที ขณะที่ถ้าเป็นเกียร์ 5 ในความเร็วเท่ากัน เครื่องยนต์ก็จะต้องหมุนด้วยรอบที่ต่ำกว่า อาจจะอยู่ที่ประมาณ 6,000 รอบ/นาที

dash-50-kph-015
นั่นจึงหมายความว่า หากเพื่อนๆขี่รถมาด้วยเกียร์ 4 ที่ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วจะเปลี่ยนเกียร์ขึ้น เป็นเกียร์ 5 เพื่อนๆก็จำเป็นจะต้องผ่อนคันเร่งเพื่อให้รอบเครื่องยนต์ขยับลงมาจาก 8,000 รอบ/นาที ไปอยู่ที่ราวๆ 6,000 รอบ/นาที ก่อน เพื่อที่ในจังหวะปล่อยคลัทช์ รถจะได้ไม่มีการอาการกระตุก หรือพุ่งไปข้างหน้าแบบไม่ตั้งใจ

mm93-wave-leg
เช่นเดียวกัน ในจังหวะที่ต้องลดเกียร์ลง จากเกียร์ 5 ลงมาเกียร์ 4 หากเพื่อนๆไม่เบิ้ลคันเร่งตอนกำคลัทช์ เพื่อให้รอบเครื่องยนต์เด้งขึ้นจาก 6,000 รอบ/นาที เป็น 8,000 รอบ/นาที แรงเอนจิ้นเบรก หรือแรงหน่วงของเครื่องยนต์ ที่ไม่อยากหมุนขึ้นเพราะไม่มีกำลังจากการสันดาปเชื้อเพลิงให้ปั่นรอบขึ้นไป มันก็จะเกิดขึ้นสวนกลับมาทันที ทำให้รถมีอาการหน่วงความเร็วลงอย่างกระทันหัน จนหน้าทิ่ม


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิ่งบนสนามแข่งที่ต้องวิ่งด้วยความเร็วสูงๆ และนักบิดไม่ทำการเบิ้ลคันเร่งให้สัมพันธ์กับอัตราทดเกียร์ที่เชนจ์ลง เอนจิ้นเบรกก็จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากๆ จนมันอาจจะทำให้ล้อหลังไม่สามารถยึดเกาะกับพื้นถนนได้จนท้ายรถเสียอาการไปในทันที (ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งที่มาของการคิดค้นกลไกสลิปเปอร์คลัทช์ เพื่อลดเอนจิ้นเบรกตอนเชนจ์เกียร์ลงเร็วๆ รวมถึงระบบ Auto-Blip ที่ต้องมีมาให้สำหรับรถที่ติดควิกชิฟเตอร์แบบ 2 ทางขึ้น/ลง)

wet-clutch-01
นอกจากนี้ หากเพื่อนๆเข้าใจถึงหลักการ และฝึกทำ Rev Matching จนคล่องแล้ว ประโยชน์ที่ได้ตามมาก็ไม่ได้มีแค่เพียงในเรื่องของการลดอาการรถพุ่ง หรือท้ายสไลด์อย่างไม่ได้ตั้งใจเพราะล้อหลังล็อคเท่านั้น แต่มันยังช่วยลดอัตราการสึกหรือของระบบคลัทช์และระบบเกียร์ ที่ไม่ต้องมารับแรงกระชากที่เกิดขึ้นจากเครื่องยนต์และชุดเกียร์แบบปุบปับด้วย


แต่ทั้งนี้ เราต้องขอย้ำนะครับว่า ให้เพื่อนๆเบิ้ลแค่เท่าที่จำเป็น หรือเบิ้ลแค่ให้รอบมันขึ้นในระดับที่สัมพันธ์กับเกียร์ เท่านั้น อย่าไปเบิ้ลจนโอเวอร์ เพราะงานนี้อาจจะโดนชาวบ้านหมั่นไส้เอา และแทนที่จะช่วยลดภาระของระบบคลัทช์ งานนี้ก็กลายเป็นว่าจะเปลืองคลัทช์แทนเช่นกันครับ อ้อ ทริคนี้จริงๆรถมอเตอร์ไซค์แม่บ้านก็ทำได้นะครับ

อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!