Tips Trick : เติมลมยาง แข็ง หรือ อ่อน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ?

0

ถ้าพูดถึง “แรงดันลมยาง” มันคงไม่ใช่เรื่องน่าสนใจเท่าไหร่สำหรับใครหลายๆคน เพียงแค่เติมค่าตามคู่มือก็จบ แต่เชื่อเถอะครับว่ามันสำคัญจริงๆ ไม่งั้นผู้ผลิตคงไม่ระบุมาชัดเจนทั้งในคู่มือ หรือถึงขั้นติดสติ้กเกอร์บอกไว้บนตัวรถหรอกครับ

ktm-1290-super-adventure-s-2
อย่างที่ทราบกัน ว่าเส้นยางดำๆที่รัดขอบล้อของเราอยู่ คือสิ่งเดียวที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรถมอเตอร์ไซค์ที่เราขี่อยู่กับถนนหรือเส้นทางที่เราจะไป ซึ่งแรงดันลมยางเนี่ย มีผลต่อแรงยึดเกาะ, ความคล่องแคล่วในการเลี้ยว, ความเสถียร, ความนุ่มนวล, ไปจนถึงความทนทานของยาง ดังนั้นในคราวนี้เราจะมาพูดถึง “ความสำคัญของแรงดันลมยาง” กันดีกว่าครับ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การที่เราเติมลมเข้าไปในยางแต่ละครั้ง แรงดันข้างในจะไม่อยู่ที่ค่านั้นตลอดไป เพราะโมเลกุลของอากาศที่เราอัดเข้าไป มันเล็กมากๆจนสามารถซึมผ่านโมเลกุลของยางได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการเลือกเติมลมไนโตรเจนเข้าไป เพราะว่าโมเลกุลของก๊าซในโตรเจนอย่างเดียวนั้นใหญ่กว่าออกซิเจนพอสมควร หรือการเลือกใช้ยางประเภท Tube Less (ไม่ใช้ยางใน) แทน Tube Tire (ใช้ยางใน) เนื่องจากยางประเภทแรกมีโครงสร้างเนื้อยางที่แน่นกว่าประเภทหลัง แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาก็แค่ทำให้มันซึมยากเท่านั้น ไม่ใช่ไม่ซึมเลย

tirepressurecheck-03
ดังนั้นระยะเวลาการตรวจเช็คลมยางที่เเหมาะคือทุกๆ 2 สัปดาห์ (หรือถ้าขยันหน่อยก็สัปดาห์ละครั้งไปเลยครับ) ส่วนเครื่องมือตรวจวัดลมยาง เราไม่แนะนำให้ใช้เกจวัดแบบดินสอ (ที่เสียบกับจุ๊บลมแล้วจะมีมาตรวัดยื่นออกมา)เท่าไหร่ เพราะไม่มีความเสถียรมากพอ ควรใช้เกจเข็มหรือดิจิตอลไปเลยดีกว่า ซึ่งเอาจริงๆแล้วพวกเกจวัดสองอย่างหลังสามารถหาใช้ได้ตามปั๊มน้ำมันได้ง่ายอยู่แล้ว (แต่ก็ใช่ว่าจะเท่ากันทุกปั๊มนะครับ อันนี้ผู้เขียนเจอมากับตัว ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้วัดที่ปั๊มเดิม ตู้เติมเดิมจะแน่นอนกว่าครับ)

อย่างที่เราบอกไปเมื่อกี้ว่าแรงดันลมยางนั้นส่งผลอยู่หลายส่วนด้วยกัน โดยในกรณีแรกเราจะอธิบายก่อนก็คือ “แรงดันลมต่ำ” สำหรับกรณีนี้จะมีผลก็คือ ทำให้หน้ายางถูกกดลงไปแนบกับพื้นมากกว่าปกติ และในเมื่อหน้ายางสัมผัสพื้นมาก แรงเสียดทานมากขึ้นตาม หรือว่าง่ายๆก็คือมันหนึบมากขึ้น ดังนั้นสายซิ่งในสนามหลายๆคน จึงมักปล่อยลมยางให้ต่ำกว่าปกติ เพื่อที่ยางจะได้สามารถสร้างแรงยึดเกาะกับผิวแทร็คได้มากกว่าเดิม

แต่มันก็แลกมาซึ่งอัตราการเสื่อมของยางก็ที่มากขึ้น อุณหภูมิยางก็สูงไวขึ้น ขนมีโอกาสที่หน้ายาง(หรือยางใน)จะบวมสูง และที่สำคัญที่สุดก็คืออัตราการบริโภคน้ำมันที่สูงขึ้นตาม เพราะเครื่องยนต์ต้องใช้แรงในการดันตัวรถไปข้างหน้ามากขึ้น และมีโอกาสที่ล้อจะได้รับความเสียหายสูงกว่าปกติเวลากระแทกกับหลุม บ่อต่างๆ เพราะไม่มีแรงดันลมยางมาช่วยซับแรงกระแทก และสำหรับการขี่ลุยฝนเอง ด้วยหน้ายางที่กว้างขึ้น กลับไม่ได้ทำให้มันมีพื้นที่ผิวให้เกาะถนนมากกว่าเดิม แต่จะทำให้มันออกอาการเหินน้ำง่ายกว่าเดิมต่างหาก เนื่องจากน้ำต้องใช้ระยะทางในการวิ่งออกจากหน้ายางมากขึ้นกว่าตอนเติมลมยางปกตินั่นเอง

ส่วนกรณีที่สองก็คือ “แรงดันลมยางสูง” สำหรับกรณีนี้จะให้ผลตรงกันข้ามแทบทั้งหมด เช่น ผิวสัมผัสหน้ายางลดลง ทำให้ประสิทธิภาพในการยึดเกาะลดลงตาม แรงสะเทือนที่ส่งมายังตัวผู้ขับขี่ก็เยอะขึ้น เพราะตัวยางไม่สามารถซับแรงกระเทือนได้มากพอ หรือถ้ามากจริงๆ โอกาสยางแตกตอนโดนกระแทกก็สูงขึ้นอีก ทว่าอัตราการบริโภคน้ำมันกลับดีขึ้น เนื่องจากหน้าสัมผัสยางน้อยลง แรงเสียดทานน้อยลง เครื่องยนต์เลยใช้แรงในการดันรถไปข้างหน้าน้อยลง

tirepressurecheck-02
แล้วค่าใหนถึงจะเหมาะสมล่ะ ? จริงๆแล้วค่าพวกนี้มีบอกอยู่หลายจุดด้วยกัน ถ้าลองสังเกตุดีๆที่แก้มยางก็มี แต่นั่นใช่ค่าที่ถูกต้องจริงๆรึเปล่า ? ไม่เลยครับ อย่าลืมว่ายางหนึ่งเส้นที่ผู้ผลิตยางทำขึ้นมา ถูกใช้กับรถมอเตอร์ไซค์หลายรุ่นด้วยกัน ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้ง Sport touring น้ำหนัก 220 กิโลกรัมขึ้นไป หรืออาจจะเป็น Super Sport ที่มีน้ำหนักเฉลี่ยแถว 180 กิโลกรัมเท่านั้น ทำให้ค่าที่ระบุมากับยางนั้นไม่รู้ว่ามันเหมาะกับรถอะไรกันแน่ และเป็นเพียงค่าพื้นฐานเท่านั้น

ถ้าจะให้ดีแนะนำดูที่คู่มือตัวรถ แถวสวิงอาร์มหรือไม่ก็โครงรถจะดีกว่าครับ เพราะนั่นคือค่าที่ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ออกแบบมาให้เหมาะกับรถที่เค้าสร้างขึ้นที่สุดแล้ว แต่อย่าลืมนะครับว่าสุดท้ายบุคลิกการขับขี่ของเจ้าของรถแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี

2017-yamaha-yzf-r6_3
ดังนั้นเราอาจจะต้องปรับค่าแรงดันลมขึ้นลงอีกนิด (บวกลบไม่เกิน 2-3 ปอนด์) เพื่อให้ตรงตามลักษณะการใช้งาน เช่นการใช้งานในสนามที่จะต้องลดแรงดันลมยางลงเพื่อเพิ่มความยึดเกาะ แต่ถ้ามีคนซ้อนหรือสัมภาระ ก็เพิ่มแรงดันเข้าไป เพื่อให้รองรับกับน้ำหนักที่เพิ่มเข้ามานั่นเอง

ขอบคุณที่มา Motorcyclist

อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!