ผ่านมาแล้วเกือบ 1 สัปดาห์นับตั้งแต่วันเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยของ 2019 Honda CBR650R ซึ่งคงมีเพื่อนๆจำนวนไม่น้อยที่ได้มีโอกาสไปชมตัวจริงของมันในงาน (หรืออาจจะศูนย์บริการ Big Wing ใกล้บ้านกันมาแล้ว) และคงมีเพื่อนๆหลายคนที่อยากจะทราบข้อมูลทางเทคนิค รวมถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆว่ามันจะเปลี่ยนไปจาก 2018 Honda CBR650F มากแค่ไหน
ดังนั้นในวันนี้เราจึงนำเอาข้อมูลของรถทั้งสองรุ่นมาเปรียบเทียบให้เห็นแบบจุดต่อจุดกันไปเลย และเพื่อไม่ให้เสียเวลาไปมากกว่านี้ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
เครื่องยนต์
4 สูบเรียง / DOHC / 16 วาล์ว / ระบายความร้อนด้วยน้ำ / 649cc เหมือนกันทั้ง 2019 New CBR650R และ 2018 CBR650F
เริ่มจากในส่วนของเครื่องยนต์ที่แน่นอนว่า 2019 New Honda CBR650R ก็ยังคงเป็นบล็อค 4 สูบเรียง 649cc เหมือนกับ CBR650F รุ่น 2017-2018 แต่มีการปรับปรุงชิ้นส่วนภายในหลายจุด โดยเฉพาะภายในชุดฝาสูบ ทั้ง โซ่ราวลิ้น(เงียบและลื่นขึ้น), แคมชาฟท์(ปรับไทม์มิ่งการเปิด/ปิด และระยะยกใหม่), วาล์วไอดี/ไอเสีย (เสริมความแข็งแรงให้ทนทานมากขึ้น), ระบบไหลเวียนอากาศทั้งไอดี (ขยายขนาดหม้อกรอง และเพิ่มท่อเดินอากาศเป็น 2 ท่อ) และ ไอเสีย (ขยายคอท่อออกจาก 1.4 นิ้วเป็น 1.6 นิ้ว) ขณะที่ภายในเสื้อสูบก็มีการปรับเปลี่ยนยิบย่อยอื่นๆอีกมากมายโดยเน้นไปที่การลดแรงเสียดทานเป็นหลัก
กำลังสูงสุด
2019 New CBR650R : 94 แรงม้า (70 กิโลวัตต์) ที่ 12,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 64 นิวตันเมตร ที่ 8,500 รอบ/นาที
2018 CBR650F : 90 แรงม้า (67 กิโลวัตต์) ที่ 11,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 64 นิวตันเมตร ที่ 8,000 รอบ/นาที
และจากการปรับปรุงในหัวข้อที่แล้วจึงส่งผลให้ 2019 CBR650R มีกำลังเคร่ื่องยนต์สูงขึ้นอีก 4 แรงม้า (ในหน่วย HP) บนรอบที่สูงขึ้นอีก 1,000 รอบ/นาที ส่วนแรงบิดสูงสุด แม้จะมีตัวเลขเท่าเดิม และมาช้ากว่าประมาณ 500 รอบ/นาที แต่ทาง Honda ได้ระบุไว้ว่าในช่วงรอบที่ต่ำกว่า 10,000 รอบ/นาทีลงมา กราฟแรงบิดเครื่องยนต์มีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีก 5% เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่จะแรงกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังเร่งรอบได้ติดมือกว่าเดิมอีกด้วย
ระบบส่งกำลัง
2019 New CBR650R : เฟืองเกียร์ 6 สปีด ตัดต่อกำลังด้วยระบบคลัทช์เปียกหลายแผ่นซ้อนกัน พร้อมระบบ Assist & Slipper Clutch
2018 CBR650F : เฟืองเกียร์ 6 สปีด ตัดต่อกำลังด้วยระบบคลัทช์เปียกหลายแผ่นซ้อนกัน
สำหรับข้อมูลในเรื่องของระบบส่งกำลังในเบื้องต้นนั้น น่าเสียดายที่เราไม่สามารถหาข้อมูลเรื่องอัตราทดเกียร์ได้ว่ามันมีการปรับใหม่หรือไม่ แต่จุดไฮไลท์สำคัญของ 2019 New CBR650R ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ มันได้รับการติดตั้งชุดสลิปเปอร์คลัทช์เป็นที่เรียบร้อย เพื่อป้องกันอาการล้อล็อคตอนเชนจ์เกียร์ลงหนักๆ และช่วยเบาแรงตอนกำก้านคลัทช์ลงอีกถึง 12%
ระบบกันสะเทือน
2019 New CBR650R : โช้กอัพไซด์ดาวน์ SFF (Separate Function Fork) ขาดแกน 41 มิลลิเมตรจาก Showa / สวิงอาร์มอลูมิเนียมแขนคู่ พร้อมโมโนช็อคปรับแข็งอ่อนได้ 7 ระดับ
2018 CBR650F : โช้กเทเลสโกปิค SDBV (Showa Dual Bending Valve) ขนาดแกน 41 มิลลิเมตรจาก Showa / สวิงอาร์มอลูมิเนียมแขนคู่ พร้อมโมโนช็อคปรับแข็งอ่อนได้ 7 ระดับ
ต่อกันที่ระบบกันสะเทือนซึ่งนี่คืออีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้หลายคนฮือฮากับการมาของ New CBR650R พอสมควร เพราะทาง Honda ได้ติดตั้งชุดโช้กหน้าหัวกลับ ขนาดแกน 41 มิลลิเมตรมาให้ตามเสียงเรียกร้องซักที ส่วนชุดโช้กหลังอาจจะดูเหมือนคล้ายๆเดิม แต่คาดว่าจะมีการปรับค่าความแข็งสปริงใหม่ (ค่า K) เพื่อให้ทำงานได้เหมาะสมกับกำลังและน้ำหนักตัวรถที่เปลี่ยนไปมากขึ้น
ระบบเบรก
2019 New CBR650R : ปั๊มเบรกหน้าแบบเรเดียลเมาท์ 4 พอท ทำงานร่วมกับ จานเบรกขนาด 320 มิลลิเมตร / ปั๊มเบรกหลังแบบโฟลทติ้ง 2 พอท ทำงานร่วมกับจานเบรกขนาด 245 มิลลิเมตร
2018 CBR650F : ปั๊มเบรกหน้าแบบแอกเซียลท์เมาท์ (โฟลทติ้ง) 4 พอท ทำงานร่วมกับ จานเบรกขนาด 320 มิลลิเมตร (Wave Disc) / ปั๊มเบรกหลังแบบโฟลทติ้ง 2 พอท ทำงานร่วมกับจานเบรกขนาด 245 มิลลิเมตร
ด้านระบบเบรกเองก็มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือชุดปั๊มเรเดียลเมาท์ 4 พอท ที่ยกมาใส่เป็นที่เรียบร้อยตามคำเรียกร้องของลูกค้าเช่นกัน และถ้าสังเกตเพิ่มอีกนิดก็จะเห็นได้ว่าตัวจานเบรกของ New CBR650R ได้เปลี่ยนไปเป็นแบบกลมเต็มวงเหมือนพี่ๆพิกัด 1,000cc แทนที่จะเป็นแบบจานลอนคลื่น หรือ Wave Disc ส่วนขนาดจานเบรก และระบบเบรกด้านหลังก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง
ชุดล้อ
2019 New CBR650R : อัลลอยด์ 17 นิ้ว 5 ก้านตัว Y รัดด้วยยางขนาด 120/70-17 ด้านหน้า และ 180/55-17 ด้านหลัง
2018 CBR650F : อัลลอยด์ 17 นิ้ว 6 ก้านตัว Y รัดด้วยยางขนาด 120/70-17 ด้านหน้า และ 180/55-17 ด้านหลัง
ในส่วนของชุดล้อของ New CBR650R เมื่อเทียบกับ CBR650F ทาง Honda ยังคงให้ขนาดหน้ากว้าง ทั้งล้อหน้า และ ล้อหลัง มาเท่าเดิม ดังนั้นขนาดหน้ายางที่รัดอยู่กับตัวยางจึงเท่ากันเป๊ะ แต่จุดเปลี่ยนตรงนี้ที่ต้องพูดถึงจริงๆก็คือลายล้อ หรือตัวก้านที่เปลี่ยนไปเป็นแบบ 5 ก้านตัว Y เหมือน CBR1000RR จากเดิมที่เป็นลาย 6 ก้านตัว Y
มิติตัวรถ (กว้าง x ยาว x สูง ในหน่วยมิลลิเมตร)
2019 New CBR650R : 750 x 2,130 x 1,150
2018 CBR650F : 775 x 2,110 x 1,120
และในเรื่องของขนาดมิติตัวรถนั้น จะเห็นได้ว่าด้านกว้างของ New CBR650R มีความแคบลงมาอีกถึง 25 มิลลิเมตรซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร ขณะที่ความสูงก็มีการปรับขึ้นอีกถึง 30 มิลลิเมตร คาดว่าจะเป็นผลมาจากชุดวินชิลด์แบบบใหม่ ส่วนความยาวก็ถูกยืดออกไปอีก 20 มิลลิเมตรจากช่วงขาบังโคลนที่ยาวกว่าเดิม
ความสูงเบาะ
สูง 810 มิลลิเมตร เท่ากันทั้งคู่
จากตัวเลขในเบื้องต้น แม้ว่าความสูงเบาะของ New CBR650R จะยังคงเท่ากับ CBR650F ก็จริง แต่ทาง Honda ได้ให้ข้อมูลว่าพวกเขาทำการปรับตำแหน่งพักเท้าใหม่ (ถอยไปด้านหลัง 3 มิลลิเมตร และสูงขึ้นอีก 6 มิลลิเมตร) พร้อมกับย้ายตำแหน่งแฮนด์บาร์ให้มาจับไว้ใต้แผงคอ ส่งผลให้ตำแหน่งของมันขยับไปด้านหน้า และต่ำลงกว่าเดิมอีกอย่างละ 30 มิลลิเมตร ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าท่านั่งของโฉมใหม่จะมีความเป็นสปอร์ตไบค์เพิ่มขึ้นอีกพอสมควรเลยทีเดียว
ความจุถังน้ำมัน
2019 New CBR650R : 15.4 ลิตร
2018 CBR650F : 17.3 ลิตร
ด้านความจุถังน้ำมันดูเหมือนว่าทาง Honda น่าจะให้ความสำคัญกับการรีดน้ำหนักและลดขนาดถังลงเพื่อเพิ่มความกระชับตอนนั่งคร่อมมากกว่า จึงส่งผลให้ปริมาตรความจุถังน้ำมันลดลงจากเดิมถึง 1.9 ลิตร
น้ำหนักตัวรถ
2019 New CBR650R : 207 กิโลกรัม
2018 CBR650F : 209 กิโลกรัม
และจากการลดขนาดความจุถังน้ำมันลง จึงทำให้น้ำหนักตัวรถโดยรวมลดลงมาเหลือ 207 กิโลกรัม แต่นั่นไม่ใช่แค่สาเหตุเดียวเท่านั้นที่ทำให้น้ำหนักหายไป เพราะทาง Honda ได้จัดการเปลี่ยนวิธีขึ้นรูปเฟรมใหม่จากวิธีหล่อขึ้นรูปเป็นการใช้แรงดันช่วยเสริม (หลักการคล้ายๆวิธีฟอร์จแต่ไม่ได้มีแรงบีบอัดสูงเท่า) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตัวรถเบาลงด้วย
เพิ่มเติมอีกนิดสำหรับฟีเจอร์อื่นๆที่เพิ่มขึ้นมาของ 2019 New Honda CBR650R ซึ่งมีทั้ง
– ชุดไฟหน้า LED โคมคู่ดีไซน์แบบเดียวกับพี่ใหญ่ CBR1000RR
– ชุดไฟเลี้ยว LED
– ชุดมาตรวัด LCD-Blacklight แบบใหม่ เพิ่มการแสดงผล ตำแหน่งเกียร์ และมีชิฟท์ไลท์มาให้
– เสริมระบบ Honda Selectable Torque Control หรือก็คือแทร็คชันคอนโทรล เปิด/ปิดได้ มาให้เป็นออพชันพื้นฐาน
– ตัวเฟรมมีการออกแบบให้ช่วงหัว (บริเวณแกนคอ) มีความแข็งแรงมากขึ้นเพื่อความสถียรของตัวรถด้านหน้า ขณะเดียวกันช่วงเฟรมตรงกลางก็มีการออกแบบให้มันยืดหยุ่นได้มากกว่าเดิม เพื่อช่วยให้ผู้ขี่สามารถรับรู้อาการของช่วงล่างตัวรถได้ง่ายมากขึ้น
ปิดท้ายด้วยตารางข้อมูลทางเทคนิคเช่นเคย
อ่านข่าว Honda เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ