เปิดประวัติ Cafe Racer จากแว๊นเมืองผู้ดี สู่สไตล์ที่เป็นอมตะ

0

Cafe Racer สไตล์ของรถมอเตอร์ไซค์ที่มีมาตั้งแต่ช่วงหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 มันถือเป็นอีกประเภทนึงของรถแนวคลาสสิกที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่ ความนิยมนั้นมากพอถึงขนาดที่ว่า ค่ายรถหลายเจ้าได้ทำการเปิดตัวรถรุ่นใหม่หมดจดโดยยังคงสไตล์ Cafe Racer ไว้ ทั้งแบบดั้งเดิมที่ยังดูเหมือนรถเก่าจากกาลก่อน และแบบร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์มากขึ้น แต่รถสไตล์นี้มันมีที่มาจากอะไร วันนี้เราจะพาทุกคนมาดูกัน

Cafe Racer

Cafe Racer นั้นเริ่มเป็นที่นิยมในอังกฤษหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเหล่าทหารอังกฤษได้กลับบ้านเกิดหลังสงคราม พร้อมเงินติดมือจำนวนหนึ่งที่ได้มาหลังไปร่วมรบ แน่นอนว่าเหล่าชายชาตรีในยุคนั้นหลายคนก็นึกอยากซื้อรถคู่ใจสักคันไว้ขับเล่นอวดสาว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มอเตอร์ไซค์และรถยนต์ถูกมองว่าเป็นของเล่นคนรวย บวกกับวัฒนธรรมหนังและเพลงจากอเมริกา ที่เริ่มมีตัวละครเอกที่ขี่มอเตอร์ไซค์ ทำให้การมีมอเตอร์ไซค์สักคันในยุคนั้นดูเป็นเรื่องที่เท่ห์ขึ้นไปอีก

อังกฤษ ซึ่งเป็นบ้านของค่ายรถรายใหญ่ในยุคนั้นอย่าง Triumph, Norton, BSA, Royal Enfield รวมถึง Brough Superior ก็กลายเป็นผู้กำหนดแนวทางของตลาด ทำให้แนวทางของรถ Cafe Racer นั้นจะมีต้นแบบมาจากรถสไตล์อังกฤษ ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบด้านการออกแบบมาถึงยุคปัจจุบัน ในขณะที่รถอเมริกันครุยเซอร์ที่ถูกนำเข้ามาขาย กลับไม่เป็นที่ถูกใจนักขับแดนผู้ดีเท่าไรนัก ทำให้เหล่าอดีตทหารอเมริกันที่อยากแว๊น ได้ทำการสร้างวัฒนธรรมการขับขี่มอเตอร์ไซค์ในแบบของตัวเองที่เรียกว่า Chopper ขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งเราจะเล่าในครั้งถัดไป

Cafe Racer

ในอดีต มีใครสักคนเคยกล่าวไว้ว่า “การแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตครั้งแรก เกิดขึ้นหลังจากมีรถคันที่สอง” ซึ่งนั่นก็คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เหนือจริงมากนัก เพราะเมื่อชายหนุ่มต่างมีรถเป็นของตัวเอง สิ่งแรกที่พวกเขาอยากทำก็คือการแข่งขัน แต่เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีสนามแข่งแบบเป็นกิจลักษณะ สนามที่คนเหล่านี้เลือกที่จะใช้แข่งย่อมต้องเป็นถนนสาธารณะ ซึ่งแน่นอนว่าในสายตาของ “คนที่ทำตามกฎหมาย” ในยุคนั้นต่างก็มองคนพวกนี้ไม่ต่างจากที่เรามอง “เด็กแว๊น” เท่าไร

และในเมื่อสถานที่รวมตัวของวัยรุ่นในยุคนั้นก็คือ Cafe หรือร้านอาหารทั่วไปตามเมืองและหมู่บ้านในอังกฤษ จึงทำให้การแข่งขันมอเตอร์ไซค์มักจะเริ่มต้นกันที่ Cafe ที่ไหนสักแห่ง ก่อนจะแว๊นแข่งกันไปตามถนนสาธารณะในเวลากลางคืน และจะไปจบที่ Cafe อีกแห่งนึง เป็นที่มาของรถแข่งแนว Cafe Racer ซึ่งการแข่งตามร้านอาหารที่เป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่นลักษณะนี้ ถูกส่งผลให้คนทั่วไปพบเห็นได้มากขึ้น และนั้นก็ทำให้ง่ายต่อการเป็นกระแสและเลียนแบบกันต่อมา

Triumph Thruxton TFC

สไตล์การตกแต่งรถแนว Cafe Racer นั้นจะแตกต่างกับการแต่งรถครุยเซอร์จากฝั่งอเมริกาอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเป้าหมายด้านการแข่งขัน ทำให้เจ้าของรถพยายามแต่งรถคู่ใจของตัวเองให้เบา และเหมาะสมกับการขี่ด้วยความเร็วมากที่สุด ไล่ตั้งแต่การทำแฮนด์จับโช้คที่เอียงเข้าหาถังน้ำมัน ช่วยให้ผู้ขี่สามารถเก็บแขนขา ทำให้ลู่ลมมากขึ้น หรือจะเป็นการทำเบาะนั่งทรงตูดมด ช่วยดันไม่ให้ร่างกายหลุดออกจากเบาะเมื่อเร่งด้วยความเร็วสูง หรือบางคนก็อาจจะทำแฟริ่งบังลมทรงหัวกระสุนอย่างง่ายติดเพิ่มเข้าไปด้วย

Triumph Speed Triple 1200 RR

ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแล้ว แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารถสปอร์ตไฟกลมนั้นยังคงสามารถหาช่องว่างในตลาดได้อยู่เสมอ แถมค่ายรถเจ้าใหญ่สมัยนี้เริ่มเกาะกระแส Neo-Classic โดยการนำรถสมัยใหม่ที่มีอยู่แล้ว มาจับใส่ไฟโคมกลม, หน้าจอมาตรวัดทรงกลม และเปลี่ยนแฟริ่งใหม่ให้ย้อนยุค ทำให้ได้รถรุ่นใหม่ แต่ลงทุนไม่มาก โดยที่ไม่ต้องสร้างรถเก่าขึ้นใหม่มาอีกรุ่นให้เปลืองงบวิจัย ทำให้เราได้เห็นรถสไตล์ Neo-Classic หรือ Neo-Retro ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด

อ่านประวัติรถในตำนานเพิ่มเติมได้ที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!