Kawasaki เดินโปรเจกท์ “ระบบเกียร์ไฟฟ้า” แบบใหม่ ช่วยเพิ่มความไวการต่อเกียร์ของควิกชิฟท์ !

0

ขณะที่ Honda ก็ยังคงหากินได้อย่างต่อเนื่องกับรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ระบบส่งกำลังแบบ DCT จนปัจจุบัน และครั้งหนึ่งทาง Yamaha เองก็เคยมีรถที่ใช้ระบบเกียร์ไฟฟ้าที่ผู้ขี่สามารถขึ้น-ลงเกียร์ด้วยปุ่บกดที่ประกับแฮนด์มาแล้วครั้งหนึ่งกับ FJR1300 รุ่นปี 2006 ล่าสุดก็เป็นทาง Kawasaki บ้างที่ดูเหมือนจะสนใจในการทำรถมอเตอร์ที่มาพร้อมกับระบบส่งกำลังรูปแบบพิเศษกับเขาบ้างเช่นกัน

kawasaki-electric-shift-transmission-002
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นข้อมูลจากสิทธิบัตรของ Kawasaki ที่จดเอาไว้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019 แต่พึ่งถูกเปิดเผยสู่โลกสาธารณะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่ามันจะไม่ได้ว่าด้วยระบบคลัทช์อัตโนมัติเหมือนกับคู่แข่งทั้ง 2 แบรนด์ก่อนหน้า แต่อย่างน้อยมันก็จะว่าด้วยชุดกลไกที่การขึ้น-ลงเกียร์ ที่ไม่จำเป็นต้องต่อก้านโยงจากคันเกียร์มาเชื่อมกับแกนกระปุกเกียร์แบบปกติตรงๆอีกต่อไป เพราะคันเกียร์จะเชื่อมอยู่กับเซนเซอร์วัดตำแหน่งการขึ้น-ลงของมันเท่านั้น และกระปุกเกียร์ก็จะขยับไปมาด้วยตัวควบคุมแบบไฟฟ้าที่สั่งการจากกล่อง ECU ที่ได้รับข้อมูลจากเซนเซอร์ตำแหน่งคันเกียร์อีกที

kawasaki-electric-shift-transmission-003
แน่นอนว่าจากหลักการในข้างต้น เพื่อนๆอาจจะมองว่ารูปแบบการทำงานเช่นนี้ มันทำให้กลไกมีความซับซ้อนกว่าเดิมไม่ใช่หรือ ? เพราะแทนที่จะต่อคันเกียร์เข้ากับแกนกระปุกเกียร์ด้วยก้านโยงตรงๆแบบง่ายๆ ดันต้องมาแยกจากกันแล้วใช้เซนเซอร์กับมอเตอร์และ ECU มาทำงานร่วมกันให้วุ่นวาย

kawasaki-electric-shift-transmission-003
แต่ประโยชน์ที่ได้จากการใช้กลไกรูปแบบนี้นั้น ทาง Kawasaki ระบุว่า มันจะช่วยลดปัญหาจังหวะการเข้าเกียร์ที่ไม่สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเพื่อนๆอาจจะเตะเกียร์เร็วหรือช้าเกินไปก่อนที่คลัทช์จะจากหมด หรือรอบเครื่องยนต์ยังไม่สัมพันธ์กับความเร็วการหมุนของเฟืองเกียร์ ทำให้เฟืองเกียร์มีโอกาสสึกหรอสูง พอมีกลไกนี้เข้ามา กล่อง ECU ก็จะสามารถควบคุมให้กระปุกเกียร์ขยับเพื่อปรับตำแหน่งเกียร์ได้ในจังหวะที่เหมาะสมได้อย่างอิสระมากกว่า ปลอดภัยกว่า แถมยังรวดเร็วกว่าด้วย

2019-Kawasaki-ZX-6R-Launch_2
นอกจากนี้ ในเมื่อไม่มีก้านโยง มาเชื่อมต่อคันเกียร์ แล้วใช้มอเตอร์เป็นตัวกระปุกเกียร์แทน นั่นจึงหมายความว่าน้ำหนักของแรงที่เราต้องใช้ในการงัดหรือตบคันเกียร์ก็จะเบาลง ระยะที่ใช้ในการตบคันเกียร์ขึ้น-ลง ก็สามารถปรับเซ็ทได้ตามสะดวกเพียงแค่ปรับตำแหน่งเซนเซอร์ รวมถึงการจัดตำแหน่งพักเท้าและคันเกียร์เองก็ยังทำได้อิสระเช่นกัน เพราะไม่จำเป็นต้องมาคำนวนถึงระยะและแนวของก้านโยงที่อาจจะไปติดชิ้นส่วนนู่นนี่นั่นของตัวรถอีกต่อไป หรือจะทำงานร่วมกับควิกชิฟท์เตอร์เพื่อความต่อเนื่องในการไล่รอบก็ได้ เพราะการควบคุมกระปุกเกียร์ของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ยึดติดกันโดยตรงย่อมไวกว่าการง้างเท้าของผู้ขี่อยู่แล้วนั่นเอง

2019-Kawasaki-ninja-h2-carbon-edt-01
และหากอิงจากการที่สิทธิบัตรนี้ได้ถูกยื่นจดตั้งแต่ช่วงปี 2019 จึงทำให้ไม่แน่ว่าทาง Kawasaki อาจจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้มาจนถึงขั้นที่พร้อมใช้งานจริงในเร็วๆนี้ก็ได้ แต่มันจะไปโผล่ในรถมอเตอร์ไซค์รุ่นไหนก่อน เราก็คงจะต้องรอการอัพเดทข้อมูลในครั้งต่อๆไปกันอีกครั้งในภายหลังครับ

อ่านข่าวสาร Kawasaki เพิ่มเติมได้ที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!