Tips Trick: ไขข้อสงสัย “รูปแบบสวิงอาร์ม” แขนเดี่ยว vs แขนคู่

0

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเคยเสนอบทความ Tips Trick ไปหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ยาง, เบรก, เกียร์, คลัทช์, แม้กระทั่งเครื่องยนต์กันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาพูดถึงระบบช่วงล่างกันบ้างดีกว่า

โดยในบทความนี้เราจะพูดถึง ข้อดี/ข้อเสียของ สวิงอาร์มคู่ และสวิงอาร์มแขนเดี่ยว หรือที่เพื่อนๆหลายๆคนมักจะเรียกกันจนติดปากว่า “Pro-Arm” ให้ได้ทราบกันครับ

2016-Kawasaki-ZX-10R-More-Detail_04
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจกันก่อนว่าสวิงอาร์มมีหน้าที่อะไร ?

สำหรับหน้าที่หลักๆของสวิงอาร์มนั้นถูกสร้างมาเพื่อเป็นจุดยึดระหว่างล้อหลังกับตัวรถ ซึ่งแรงหรือภาระที่เกิดขึ้นกับตัวมันเองนั้นเรียกได้ว่าไม่ใช่น้อยๆเลยทีเดียว เพราะไม่ใช่แค่ว่ามันจะต้องรับแรงกระแทกขึ้นลงของพื้นถนนที่ส่งผ่านล้อมายังเพลาและตัวมันเท่านั้น แต่มันยังต้องเจอแรงดันไปข้างหน้าที่เกิดขึ้นจากการหมุนของล้อ และแรงกระชากขณะเบรกหรือเชนเกียร์ แม้กระทั่งตอนเทโค้ง มันก็ต้องทนแรงบิดที่เกิดขึ้นเนื่องจากมุมแรงจากพื้นถนนเพี้ยนไปจากแนวการขยับขึ้น-ลงของตัวมันอีก

2016-Yamaha-YZF-R1-World-Superbike-21
ดังนั้นวิศวกรออกแบบจึงต้องสร้างสวิงอาร์มให้แข็งแรงและทนทานมากพอที่จะรับภาระทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ โดยรูปแบบหลักๆของสวิงอาร์มที่เรามักรู้จักกันดีที่สุดนั่นคือสวิงอาร์มแขนคู่ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการใช้งาน ตั้งแต่รถแม่บ้านยันซุปเปอร์ไบค์ (ในที่นี้เราจะยังไม่ลงลึกไปถึงรูปทรงต่างๆของสวิงอาร์มเช่น ทรงกล้วย ทรงเหล็กกล่อง หรือทรงคางหมูคว่ำ/หงาย)

สวิงอาร์มแขนคู่นั้นเป็นอะไรที่วิศวกรสามารถสร้างให้มันแข็งแรงได้โดยที่ไม่ต้องหันไปใช้วัสดุชนิดพิเศษให้เปลืองเงินต้นทุนของบริษัทแต่อย่างใด เพราะแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะกระจายไปยังขาสวิงอาร์มแต่ละข้าง ซึ่งแค่นี้ก็เพียงพอแล้วกับการใช้งาน และแน่นอนว่ามันทำให้ราคาโดยรวมของตัวรถถูกลงด้วยอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้การปรับตั้งระยะโซ่ก็ทำได้ง่าย เพียงแค่คลายน็อตยึดเพลาออกแล้วย้ายตำแหน่งเข้าออกก็จบ

ducati-project-1408-carbon-fribre-swingarm
แล้วข้อดีของสวิงอาร์มแขนเดี่ยวล่ะคืออะไร ?

ใช่ครับ สิ่งแรกที่เราเห็นเป็นอย่างเดียวกันเลยก็คือ ความเท่ห์ของมันนั่นเอง ด้วยความเป็นเอกลักษณ์และความหรูหราเพราะเราจะเห็นสวิงอาร์มแบบนี้ติดตั้งในรถหรูแพงๆเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มันต้องอยู่กับรถราคาแพงนั่นก็เป็นเพราะว่า ตัวมันเองต้องใช้วัสดุในการผลิตที่ดีกว่าปกติ แถมการออกแบบโครงสร้างยังต้องแข็งแรงพอที่จะรองรับกับแรงทั้งหมดที่เรากล่าวไปข้างต้นด้วยแขนข้างเดียว

ข้อดีอีกอย่างของสวิงอาร์มแขนเดี่ยวก็คือ ความสะดวกในการถอดล้อเข้าออกจากเพลา เพียงแค่คลายน็อตยึดดุมล้อออก ก็สามารถยกล้อหลังไปจากสวิงอาร์มได้ทันที โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลากับการดึงเพลา หรือระวังจานเบรกกับจานเซ็นเซอร์ ABS กระแทกใดๆทั้งสิ้นเหมือนสวิงอาร์มแขนคู่ เพราะชิ้นส่วนทั้งหมดอยู่ทางฝั่งของดุมล้อนั่นเอง

ducati-1299-panigale-s-anniversario (13)
แต่เอาจริงๆแล้ว เรื่องนี้จะเห็นผลที่สุดก็ตอนแข่งรถเอนดูรานซ์ที่ต้องเปลี่ยนยางให้เร็วที่สุดเพื่อประหยัดเวลาที่อยู่ในพิทสต็อป (แต่เราไม่ได้จะรีบไปแข่งเปลี่ยนยางกับใครหนิ ? แถมรถแข่งที่ใช้สวิงอาร์มแขนคู่เดี๋ยวนี้ก็สามารถทำเวลาในการเปลี่ยนยางได้เร็วพอๆกับรถที่ใช้สวิงอาร์มแขนเดี่ยวแล้วด้วย)

ส่วนข้อเสียของสวิงอาร์มแขนเดี่ยวนั้นคงเป็นเรื่องของการปรับตั้งระยะตึง-อ่อนของโซ่ ซึ่งต้องอาศัยการบิดเพลาลูกเบี้ยวเพื่อยืดระยะเพลาให้ออกห่างจากตัวรถ โดยจุดนี้อาจจะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง และช่างที่ชำนาญซักนิดเพื่อปรับตั้งในจุดนี้

ducati-1299-panigale-s-anniversario (22)
แล้วข้อดีข้อเสียในเรื่องของการควบคุม หรือฟีลลิ่งที่เกิดขึ้นกับการขับขี่ล่ะ ?

แทบไม่แตกต่างกันเลยครับ ณ จุดๆนี้ เพราะไม่ว่าสวิงอาร์มแบบไหนก็สามารถออกแบบให้ทนต่อแรงที่เกิดขึ้นได้เหมือนกันหมด น้ำหนักโดยรวมก็ต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะถึงแม้สวิงอาร์มแบบ Pro-Arm จะมีแขนแค่ข้างเดียว แต่ถ้ารีดน้ำหนักวัสดุมากเกินไป ความแข็งแรงก็จะน้อยลงตาม แถมสิ่งที่สวิงอาร์มหลังจะส่งผลต่อความรู้สึกในการขับขี่นั้นก็เป็นเรื่องของระยะฐานล้อ หรือจุดยึดระบบกันสะเทือนมากกว่า ซึ่งก็อย่างที่บอกแหล่ะครับ สวิงอาร์มแบบไหนก็ทำได้ ไม่ว่าจะแขนคู่หรือแขนเดี่ยว

KTM-1290-Super-Enduro_8
ดังนั้นเราจึงขอสรุปกันสั้นๆเลยว่า ความต่างของสวิงอาร์มแขนคู่กับสวิงอาร์มแขนเดี่ยวนั้นมีเพียงแค่ ความสวยงาม และความเท่ห์เท่านั้นเอง ส่วนเรื่องประสิทธิภาพก็พอๆกันทั้งคู่นั้นแหล่ะครับ

ขอบคุณที่มา MC Garage

อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!