“ทอร์ค(Torque)” หรือ “แรงบิด” น่าจะเป็นคำคำนึงที่คนที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับยานยนต์น่าจะเคยได้ยินกันมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าแรงบิดที่ว่านั้นมันคืออะไร ปริมาณแรงบิดที่แตกต่างกันออกไป สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในการขับขี่รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ในชีวิตจริง Tips Trick วันนี้เลยจะพาไปดูกันว่าแรงบิดที่ว่านั้นคืออะไร และนิยามของหน่วยของแรงบิดนั้นมีความหมายว่าอะไรกันแน่
“ทอร์ค(Torque)” หรือ “แรงบิด” นั้นมีความหมายตรงตัวหนังสือเลยว่าคือแรงประเภทหนึ่งที่ใช้ในการ “หมุน” หรือ “บิด” แกนของวัตถุ เช่นแรงที่ใช้ในการเปิดประตู(หมุนแกนบานพับประตู) ขันน็อค หรือแรงที่ใช้ในการหมุนล้อนั้นล้วนต่างก็คือแรงบิดทั้งสิ้น แรงบิดที่สูงมากขึ้นนั้นจะสามารถหมุนแกนที่มีแรงด้านมากขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่นรถยนต์ที่มีน้ำหนักมากหรือลากของที่มีน้ำหนักมาก การมีแรงบิดที่มากก็จะช่วยหมุนล้อให้รถและน้ำหนักดังกล่าวสามารถเคลื่อนที่ไปได้
ขณะเดียวกันแรงบิดที่มากในทิศทางตรงข้าม ก็ยังสามารถใช้เพื่อป้องกันไม่ให้แกนดังกล่าวหมุนได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นกันขันน็อตให้แน่น หรือการดันประตูจากฝั่งตรงข้ามไม่ให้เปิด เพราะฉนั้นแรงบิดจึงสามารถทำให้แกนหมุนหรือหยุดหมุนก็ได้
หน่วยวัดแรงบิดนั้นมีมากมายหลายหน่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานที่และความคุ้นชินของคนที่ใช้เช่น Nm(นิวตัน-เมตร), Kg/m(กิโลกรัม/เมตร), lb/ft(ปอนด์-ฟุต) จะสังเกตุได้ว่าหน่วยวันแรงบิดนั้นเป็นการผสมระหว่างหน่วยวัด “น้ำหนัก” และ “ระยะทาง” เข้าไว้ด้วยกัน โดยเป็นการจำลองว่าต้องใช้น้ำหนักเท่าไร ในการหมุนแกนผ่านคานที่มีความยาวเท่าไร(บอกแบบนี้คงงงกันหลายคน)
ยกตัวอย่างแรงบิด 1 Kg/m(กิโลกรัม-เมตร) นั้นมีค่าเท่ากับการใช้แรงกด 1 กิโลกรัม ในการกดและหมุนประแจยาว 1 เมตร ให้สามารถหมุนไปได้ ในขณะที่แรงบิด 2 Kg/m(กิโลกรัม-เมตร) จะมีค่าเท่ากับการใช้แรงกด 2 กิโลกรัม ในการกดและหมุนประแจยาว 1 เมตร ซึ่งก็จะมีค่าเท่ากันกับการใช้แรงกด 1 กิโลกรัม ในการกดและหมุนประแจยาว 2 เมตร โดยตัวเลขทั้งสองฟากสามารถสลับกันได้เนื่องจากมีค่าเท่ากัน เพราะคานที่ยาวขึ้นจะทำให้เราต้องใช้แรงกดน้อยลง ส่วนคานที่สั้นจะทำให้เราต้องใช้แรงกดมากขึ้น ไม่ว่าจะสลับอย่างไรตัวเลขแรงบิดก็ยังคงเท่าเดิม
แปลว่าหน่วยวัดแรงบิดที่ต่างกันนั้นก็เกิดขึ้นขึ้นจากหน่วยวัดน้ำหนักและระยะทางที่ต่างกันนั่นเอง โดยหน่วยวัดแรงบิดตามมาตรฐาน SI หรือหน่วยที่ใช้ในทางวิทยาศาสตร์ก็คือ Nm(นิวตัน-เมตร) ส่วนอีกหน่วยที่เราอาจจะเห็นบ่อยรองลงมาก็คือ lb/ft(ปอนด์-ฟุต) ที่จะเห็นได้จากรถที่ขายในฝั่งอเมริกาเหนือ
ซึ่งแรงบิดนั้นเพียงแค่บ่งบอกว่าแรงของเราสามารถหมุนแกนแกนหนึ่งได้แรงมากขนาดไหน หรือสู้กับแรงต้านได้มากเท่าไร แต่มันกลับไม่ได้บ่งบอกว่าเราสามารถหมุนแกนที่ว่านั้นได้ “เร็ว” มากขนาดไหน โดยเรื่องนั้นจะเป็นหน้าที่ของ “แรงม้า” ซึ่งเราจะพูดถึงมันในครั้งหน้า แต่ถ้าจะให้สรุปก็คือยิ่งรถของเรามีแรงบิดมาก ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะมีอะไรมาต้านรถของเราไม่ให้เคลื่อนที่นั่นเอง(เช่นน้ำหนักตัวที่มากของรถมอเตอร์ไซค์เอง คนขี่หรือคนซ้อน)
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่