รถมอเตอร์ไซค์ และระบบอัดอากาศไม่ว่าจะเป็น Turbo หรือ Supercharge เป็นของสองอย่างที่เราไม่ค่อยได้เห็นมันอยู่คู่กันบ่อยนัก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเรากลับได้เห็นข่าวของรถมอเตอร์ไซค์ที่พ่วงระบบอัดอากาศผ่านตามากขึ้น แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่รถยนต์ก็ใช้กันมานานแล้ว

แต่ก่อนที่เราจะคุยเรื่องการกลับมาของรถอัดลมในยุคสมัยใหม่ เราก็ขอพูดถึงกระแสการมาและการหายไปของมันกันก่อน ย้อนไปในช่วงปี 1980 สหรัฐอเมริกามีการตั้งภาษีนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์ที่มีความจุเครื่องยนต์ขนาดใหญ่จากต่างประเทศ เพื่อปกป้องธุรกิจรถครุยเซอร์เครื่องโตในบ้านตัวเอง

ส่งผลให้ค่ายรถจากญี่ปุ่นทำรถเครื่องเล็กที่มีการติดตั้งระบบอัดอากาศ ที่หลบกำแพงภาษีได้ แต่ก็ยังคงแรงอยู่ จนออกมาเป็นรถพ่วงหอยในตำนานอย่าง Honda CX500 Turbo, Yamaha XJ650 Turbo, Kawasaki GPZ750 Turbo, Suzuki XN85 Turbo แน่นอนว่าบางคันก็ทำมาเพื่อใช้ช่องโหว่ทางภาษีจริง ๆ แต่บางคันเหมือนทำมาโชว์ของมากกว่า

แต่ข้อเสียของรถเหล่านี้ก็มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นขนาดของระบบอัดอากาศที่ใหญ่โต กินพื้นที่ติดตั้ง มีน้ำหนักมาก ซับซ้อนซ่อมบำรุงยาก ต้นทุนสูง และมีความร้อนสะสมสูง นอกจากนี้เทอร์โบสมัยก่อนก็มีทั้ง Turbo Lag ที่ทำให้การตอบสนองของรถช้าลง ไม่ทันใจ และช่วงที่บูสมาก็ทำให้รถแรงขึ้นมากแบบกระทันหัน ทำให้ควบคุมได้ยากจนอาจจะถึงขั้นน่ากลัว

ทั้งหมดที่ว่ามาทำให้รถที่ติดตั้งระบบอัดอากาศไม่เป็นที่นิยม และเมื่อกำแพงภาษีที่ว่านี้หายไป รถมอเตอร์ไซค์แบบไร้ระบบอัดเครื่องใหญ่ที่ทั้งแรงกว่า ขี่ดีกว่า และค่าตัวถูกกว่าก็มีให้เลือก จึงไม่มีเหตุผลให้ค่ายรถต้องทำรถเหล่านี้ต่อไป ส่งผลให้ตลาดของรถมอเตอร์ไซค์จะเน้นไปที่เครื่องยนต์หายใจตามธรรมชาติเป็นหลัก

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ค่ายรถหลายรายยังคงมีความพยายามที่จะสร้างรถอัดลมให้เราเห็นอยู่ตลอด แต่รถกลุ่มเดียวที่ถูกพัฒนาจนวางจำหน่ายอย่างจริงจังก็มีเพียงแค่ Kawasaki ในตระกูล H2 ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ Supercharge ที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าเทอร์โบ และเข้ากับคาแรคเตอร์ปกติของรถมอเตอร์ไซค์มากกว่า

แต่หลังจากนั้นพวกเราก็เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวในทิศทางนี้มากขึ้น จากค่ายรถรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Suzuki, Yamaha และโดยเฉพาะ Honda ที่กำลังพัฒนาระบบเทอร์โบไฟฟ้าในรถรุ่นใหม่ โดยตั้งเป้าหมายในการจำหน่ายจริงในวงกว้างเหมือนกัน

ซึ่งเหตุผลเบื้องหลังนอกจากจะเป็นเรื่องการโชว์เทคโนโลยีแล้ว ก็อาจจะเป็นความพยายามในการต่อสู้กับกฎหมายค่ามลพิษที่เข้มงวดขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะวิธีการลดความจุเครื่องยนต์ และติดตั้งระบบอัดอากาศ เป็นวิธีการที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมาแล้วในโลกของรถยนต์ ที่สามารถช่วยได้ทั้งการลดค่าไอเสีย และรักษาความแรงของเครื่องยนต์เอาไว้

แน่นอนว่าระบบอัดอากาศจะยังคงมีข้อเสียติดตัวอยู่ แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมการจุดระเบิดที่ทันสมัย ระบบประมาลผล และตัวช่วยในการขับขี่และความปลอดภัยที่ซับซ้อนมากขึ้น ก็สามารถทำให้รถมอเตอร์ไซค์อัดลมมีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาอีกครั้งมากขึ้นเช่นกัน

แต่ในช่วงแรก ระบบอัดอากาศในมอเตอร์ไซค์ก็น่าจะยังเป็นของหายาก ที่มีอยู่ในรถไม่กี่รุ่นเท่านั้น ถ้ามันประสบความสำเร็จมากขึ้น ค่ายรถรายอื่นก็น่าจะเริ่มหันมาใช้มากขึ้น แบบเดียวกับระบบช่วยเปลี่ยนเกียร์อย่าง E-Clutch หรือ DCT ที่หลายคนอาจจะเคยต่อต้าน รู้ตัวอีกทีค่ายรถรายอื่นก็ทำตามกันหมด
อ่านข่าว Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่