Tips Trick : ไขข้อสงสัย ทำไมทีมช่าง MotoGP ต้องลดอุณหภูมิน้ำมันลงก่อนเติมเข้าถัง

0

หลังจากที่เมื่อวันก่อนเราได้มีการนำเสนอกฏกติกาใหม่ที่ทางคณะกรรมการ MotoGP เตรียมบังคับใช้ในปี 2019 กันไปแล้ว และหนึ่งในกฏที่ว่านี้ก็มีข้อหนึ่งที่เกียวกับ ” การลดอุณหภูมิน้ำมันลง 15 องศาจากอุณหภูมิแวดล้อมก่อนเติมเข้าถัง ” ซึ่งทำให้เพื่อนๆหลายคนคงสงสัยไม่น้อยว่า การลดอุณหภูมิน้ำมันที่ว่านี้ ทำไปเพื่ออะไร ? ทำไปทำไม ? ทำแล้วได้อะไร ? ซึ่งเราก็ได้หาคำตอบตรงนี้มาให้เพื่อนๆได้รับทราบไปพร้อมๆกันเรียบร้อย ยังไงก็มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าครับ

ก่อนอื่น เพื่อนๆต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า “น้ำมันเชื้อเพลิง” ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จะสามารถแปรผันความหนาแน่นตามอุณภูมิแวดล้อมรอบตัวมันเองอีกทีได้ง่ายมาก เนื่องจากโมเลกุลต้องการขยายตัวออกจากกันตามอุณหภูมิค่อนข้างสูง จึงส่งผลให้ปริมาตรของมันสามารถแปรเปลี่ยนได้ตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป

แต่แม้ปริมาตรของน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากโมเลกุลต้องการขยายตัวออกจากกันตามอุณหภูมิก็จริง ในส่วนของน้ำหนักตัวของมันกลับไม่ได้มีการเพิ่มตามแต่อย่างใด เพราะที่ปริมาตรเพิ่มขึ้นเกิดจากการที่โมเลกุลน้ำมันขยายตัวออกจากกัน ไม่ได้เกิดจากการเพิ่มจำนวนโมเลกุลภายในตัวน้ำมัน

motogp-feul-temp-volume-weight-explian-01
จากเหตุและผลด้านบน ถ้าจะยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คงต้องดูในรูปที่เราแนบมาตรงนี้ ที่จะเห็นได้ว่าแม้น้ำหนักของน้ำมันจะอยู่ที่ประมาณ 16.5 กิโลกรัมเท่ากันทั้งสามถัง แต่พออุณหภูมิเปลี่ยนไป ปริมาตรของมันก็เปลี่ยนตาม คือถังแรก 15 องศาเซลเซียส ปริมาตรของมันจะอยู่ที่ 22 ลิตร และพอเพิ่มอุณหภูมิเป็น 25 องศาเซลเซียส ปริมาตรของน้ำมันก็จะขยับเพิ่มเป็น 22.2 ลิตร แต่พอลดอุณหภูมิน้ำมันลงเหลือ 5 องศาเซลเซียส ปริมาตรของน้ำมันก็จะลดลงเหลือ 21.8 ลิตรเท่านั้น เนื่องจากโมเลกุลน้ำมันสามารถควบแน่นตัวเองให้เล็กลงได้ดีกว่าตอนอุณหภูมิสูง

motogp-feul-temp-volume-weight-explian-02

ในมุมกลับกัน ถ้าหากเราต้องการให้น้ำมันทั้งสามถังมีปริมาตรเท่ากันคือ 22 ลิตร น้ำมันในถังแรกที่มีอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส จะยังคงมีน้ำหนักคือ 16.5 กิโลกรัมเท่าเดิม แต่ในถังที่สอง ที่น้ำมันมีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส น้ำหนักของมันจะเปลี่ยนไปเหลือ 16.35 กิโลกรัม และถังที่สาม น้ำมันอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส น้ำหนักของมันจะหนักที่สุดคือ 16.65 กิโลกรัม เนื่องจากโมเลกุลน้ำมันจะมีการควบแน่นมากกว่าตอนน้ำมันร้อน(อุ่น)นั่นเอง

พอถึงจุดนี้เพื่อนๆก็คงพอจะเข้าใจกันแล้วใช่มั้ยครับว่า อุณหภูมิของน้ำมันมีผลต่อปริมาตรหรือน้ำหนักของตัวมันเองอย่างไร ?

motogp-feul-temp-explian-02
ทีนี้ในการแข่งขัน MotoGP ทางคณะกรรมการจะอนุญาตให้ตัวแข่งแต่ละคันสามารถเติมน้ำมันในถังได้ไม่เกิน 22 ลิตรต่อการแข่งขันหนึ่งเรซ ดังนั้นทางทีมช่างจะต้องคำนวนว่าควรเซ็ทกล่อง ECU ให้จ่ายน้ำมันได้สูงสุดเท่าไหร่ ถึงจะมีน้ำมันเหลือใช้จนจบการแข่งขัน แต่ก็ยังแรงพอที่จะให้นักบิดใช้ไล่แซงคู่แข่งได้ทั้งเกม (ส่วนในภาพที่เห็นเขียนว่า 20.1 ลิตร นั้นเป็นภาพเก่าตอนที่ คณะกรรมการยังให้ตัวแข่งใช้น้ำมันได้ไม่เกิน 20 ลิตร ต่อหนึ่งการแข่งขัน)

ซึ่งทีนี้ในการจ่ายน้ำมันเข้าสู่ห้องเผาไหม้แต่ละครั้ง เครื่องยนต์จะจุดระเบิดได้แรงหรือไม่นั้น แท้จริงแล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ปริมาตร” ของน้ำมัน แต่ขึ้นอยู่กับ “น้ำหนัก” ของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้าไปผสมกับไอดีก่อนสู่ห้องเผาไหม้อีกที เพราะน้ำหนักยิ่งมาก ก็จะหมายถึงมีโมเลกุลน้ำมันให้ทำปฏิกิริยาสันดาป (ระเบิด) กับอากาศภายในเสื้อสูบมากขึ้น

2018-british-motogp-01
ดังนั้น ก็เลยเกิดวิธีคิดในทีมช่างอย่างหนึ่งขึ้นมา นั่นก็คือ “การลดอุณหภูมิน้ำมัน เพื่อให้น้ำหนักของมันมีมากที่สุดเท่าที่ได้ในปริมาตรตามที่ทางคณะกรรมการกำหนด” เพื่อที่จะได้ลักไก่แอบฉีดน้ำมันที่หนักกว่าเข้าห้องเผาไหม้ และส่งผลให้ตัวแข่งของพวกเขา มีความแรงมากกว่ารถที่ใช้น้ำมันร้อน เพราะเครื่องยนต์สามารถจุดระเบิดได้รุนแรงจากโมเลกุลน้ำมันที่เข้าห้องเผาไหม้มากกว่า แม้ปริมาตรน้ำมันตลอดการแข่งขันจะมีให้ใช้เท่าชาวบ้านก็ตาม

แน่นอนว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำคณะกรรมการจึงได้ออกกฏกติกาเพิ่ม เพื่อป้องกันการลักไก่ตรงนี้ โดยการกำหนดกติกาแบบกลางๆมาว่า ทีมแข่งแต่ละทีม จะสามารถลดอุณหภูมิน้ำมันได้ไม่เกิน 15 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิแวดล้อม ที่ประกาศก่อนเริ่มการแข่งขันเป็นเวลา 60 นาที (แต่ในปี 2019 จะเพิ่มเป็น 75 นาที เพื่อให้ทีมแข่งมีเวลาเตรียมน้ำมันมากขึ้น) จะได้ไม่มีทีมไหนได้เปรียบเสียเปรียบจากเรื่องตรงนี้นั่นเอง

ขอบคุณภาพประกอบจาก Crash.net, MotoGP, Cycle World

อ่านข่าว MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!