หลงัจากที่ค่ายปีกนก Honda ได้ทำการเปิดตัวรถมอเตอร์ไซค์ต้นแบบ ที่มาพร้อมเครื่องยนต์แบบ V3 และติดตั้งอุปกรณ์น่าสนใจอย่างระบบอัดอากาศด้วยไฟฟ้า E-Compressor แน่นอนว่าคู่แข่งอย่าง Yamaha จะอยู่เฉยไม่ได้ เพราะล่าสุดพวกเขาได้ทำการจดสิทธิบัตร เทอร์โบไฟฟ้า E-Turbo มาเพื่อเป็นคู่แข่งโดยตรง แต่ระบบนี้ต่างกันยังไง ดีกว่าหรือด้อยกว่าตรงไหน?

ตามปกติแล้วรถจักรยานยนต์ และระบบอัดอากาศ เป็นของที่ไปด้วยกันได้ไม่ดีเท่าไร เพราะถึงแม้ว่ารถยนต์ยุคใหม่จะทำการติดตั้ง Turbo เพื่อเพิ่มความแรง และลดค่าไอเสียกันเป็นปกติ แต่ด้วยน้ำหนักที่เพิ่มเข้ามา ความซับซ้อนของการเดินท่อไอดีและไอเสีย ก็ส่งผลกระทบกับการขับขี่มอเตอร์ไซค์โดยตรง เพราะนอกจากจะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่แล้ว ของทุกอย่างที่ว่ามาจะต้องถูกหนีบไว้ใต้ขาของผู้ขี่ ซึ่งผู้ขี่จะรู้สึกถึงน้ำหนักที่เพิ่มเข้ามาอย่างแน่นอน

อีกปัญหาคือเรื่อง Turbo Lag ที่ส่งผลต่อการตอบสนองของเครื่องยนต์ที่ลดลง ซึ่งเดิมทีปัญหานี้ก็ทำให้ผู้ใช้รถยนต์สายสมรรถนะสูงหลายคนไม่ชอบอยู่แล้ว แต่ความรู้สึกที่ว่าจะชัดเจนขึ้นไปอีกเมื่ออยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ ที่มีน้ำหนักเบาและมีการตอบสนองที่รวดเร็วเป็นจุดเด่น

แปลว่าถ้าเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำหนัก และการตอบสนองได้ ระบบอัดอากาศก็น่าจะมีหวังที่จะถูกนำมาใช้ในรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ Yamaha เขียนเอาไว้ในภาพสิทธิบัตรล่าสุด และเป็นการต่อยอดจากสิทธิบัตรที่เคยจดไว้ในปี 2020 จากภาพจะเห็นได้ว่าระบบเทอร์โบของค่ายส้อมเสียงนั้นจะยังมีพื้นฐานโดยรวม ไม่ต่างจากระบบเทอร์โบตามปกติ

แปลว่าภาพสิทธิบัตรนี้จะไม่ได้ทำมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความซับซ้อน อันที่จริงแล้วต้องบอกว่ามันซับซ้อนมากกว่าเดิมด้วย เพราะพวกเขาได้ทำการติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไปที่ตัวเทอร์โบ เพื่อทำหน้าที่ช่วยปั่นรอบ และเพิ่มบูสต์ตั้งแต่รอบต่ำ นั่นแปลว่าเครื่องยนต์ของเราจะพร้อมแรงได้ในทุกรอบเครื่องยนต์ แถมยังตอบสนองกับคันเร่งได้รวดเร็วขึ้นอีก

แต่การใช้ระบบไฟฟ้ามาช่วยในเรื่องนี้ นอกจากมันจะทำให้รถของเราซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากต้องการติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า และระบบสำรองไฟเพิ่มเข้ามา มันยังเป็นระบบที่กินไฟเยอะมากถ้าเทียบกับการใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ ส่งแรงขับลงไปที่ล้อโดยตรง เพราะการสร้างบูสต์ของเทอร์โบให้ได้ จำเป็นต้องใช้ความเร็วรอบการหมุนที่สูง

นั่นทำให้รถของเราต้องมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถจ่ายไฟเลี้ยงมอเตอร์เทอร์โบได้ ซึ่งค่ายส้อมเสียงก็แก้ปัญหานี้โดยการใช้ Capacitor หรือ ตัวเก็บประจุ ที่ทำหน้าที่ชาร์จไฟเก็บไว้ได้เหมือนแบตเตอรี่ แต่มีจุดเด่นเรื่องการชาร์จไฟ และจ่ายไฟที่รวดเร็วมาก แต่ก็มีข้อเสียคือเรื่องความจุสูงสุด และระยะเวลาการเก็บไฟที่ทำได้ไม่นาน แต่ถ้าเราจะชาร์จและใช้มันทุกครั้งที่บิดข้อมืออยู่แล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา แล้วพอรอบเครื่องยนต์สูงขึ้นแล้ว ก็ให้ไอเสียรับหน้าที่ตรงนี้ต่อไป

ถ้าเรามาดูที่ ข้อดี ข้อเสีย เมื่อเทียบกับระบบ Honda E-Compressor ก็จะเห็นได้ว่าระบบของค่ายปีกนก มีดีในเรื่องของความเรียบง่าย เพราะเทอร์ไบน์อัดอากาศถูกต่อตรงเข้าพอร์ตไอดี ไม่มีการเดินท่อไอเสีย ไม่ต้องห่วงเรื่องการจัดการความร้อน แต่บูสต์จะไม่สามารถสร้างได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าพลังงานไฟฟ้าลดลง บูสต์ก็จะลดลง

แต่ทางด้านของ Yamaha E-Turbo ระบบที่ว่าจะซับซ้อนมากกว่า และถือว่าซับซ้อนมากกว่าเทอร์โบปกติด้วยซ้ำ น้ำหนักตัวรถโดยรวมก็จะมากกว่า แต่กำลังในรอบสูงจะมาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในรอบสูง เนื่องจากใช้แรงดันไอเสียมาทำหน้าที่ปั่นเทอร์โบเป็นหลัก ส่วนระบบไฟฟ้าจะช่วยแค่ลด Turbo Lag
ที่มา cycleworld
อ่านข่าวสาร Yamaha เพิ่มเติมได้ที่นี่