Honda ค่ายรถปีกนกจากประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีของวงการมอเตอร์ไซค์ระดับโลก ที่ชอบเข็นนวัตกรรมน่าสนใจออกมาให้เราเห็นอยู่ตลอด แต่ในยุคสมัยที่รถทัวริ่งรุ่นใหญ่ ต่างติดตั้งเทคโนโลยีความสะดวกสบาย และความปลอดภัยมาให้ล้นคัน โดยเฉพาะระบบเรดาร์ที่แทบจะกลายเป็นของตายในรถตัวท็อป ค่ายปีกนกกลับไม่นำระบบเหล่านี้มาใช้ในรถของตัวเอง

เพราะถ้าเราไปดูที่รถแนวท่องเที่ยวของ Honda ไม่ว่าจะเป็น Africa Twin 1100, NT1100 หรือแม้แต่ Goldwing ก็ไม่ได้ทำการติดตั้งระบบเรดาร์มาให้แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลัง นั่นทำให้รถของพวกเราไม่รองรับระบบ Adaptive Cruise Control หรือ Blind-spot monitoring

แต่จะบอกว่าพวกเขาไม่สนใจที่จะติดตั้งระบบเหล่านี้ก็คงไม่ถูก เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Honda ได้ทำการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยบนมอเตอร์ไซค์ไว้เยอะมาก โดยเฉพาะระบบกล้องหน้ารถแบบคู่ ที่จะทำงานร่วมกับ AI ที่จะรับข้อมูลภาพของท้องถนน แล้วนำมาประมวลผลออกมาเป็นการทำงานหลากหลายรูปแบบ ไม่ต่างกับระบบที่ใช้ในรถของ Tesla

ซึ่งข้อดีของการติดตั้งกล้องหน้าคู่ คือมันจะสามารถใช้ในการคำนวนระยะได้ไม่ต่างกับการติดตั้งเรดาร์หน้ารถ โดยการใช้หลักงานเดียวกับดวงตาของมนุษย์ที่วางอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน แต่ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย ต่างกับเรดาร์ที่ทั้งมีขนาดใหญ่ กินพื้นที่เยอะ แถมทำให้งานดีไซน์ของตัวรถดูแย่ในหลายกรณี

นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานการประมวลผลภาพด้วย AI ได้อีกด้วย เช่นการอ่านป้ายข้างทาง หรือสัญญาณไฟ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการเร่งและลดความเร็วตามสัญญาณจราจร นอกจากนี้หากระบบคิดว่าเรากำลังจะชนกับคนเดินเท้า หรือรถคันหน้า ตัวรถก็สามารถเบรกฉุกเฉินให้เราได้อีก

แต่ข้อเสียของการใช้กล้อง แทนที่จะเป็นเรดาร์ก็มีอยู่เช่นกัน นั่นก็คือด้วยความที่มันวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพ นั่นก็แปลว่าถ้าเราอยู่ในสถานะการณ์ที่ภาพและการมองเห็นไม่สามารถมารถใช้งานได้ตามปกติ เช่น หมอกลงจัด ก็จะทำให้ AI ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ Tesla ต้องเจอ จนส่งผลมาถึงเรื่องดราม่าระบบความปลอดภัยที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ตอนนี้ ต่างกับเรดาร์ที่สามารถสแกนผ่านหมอกได้เลย

ซึ่งหลายฝ่ายก็มีการวิเคราะห์กันว่าเหตุผลที่ Honda ยังไม่ยอมเอาเรดาร์มาใส่ในรถรุ่นใหม่ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะพวกเขาต้องการพัฒนาระบบของตัวเอง เพราะระบบเรดาร์ที่เราเห็นอยู่ในตลาด มักเป็นของที่ค่ายรถนำมาจากผู้ผลิตเทคโนโลยีต้นน้ำอย่าง Bosch แปลว่าค่ายรถไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยีเอง

หรือไม่พวกเขาก็อาจจะมองว่าผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ อาจจะไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีความปลอดภัยทั้งสูงแบบเดียวกับรถยนต์ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง กินพื้นที่ติดตั้งซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดบนรถมอเตอร์ไซค์ แถมยังเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการขับขี่ของผู้ใช้ค่อนข้างเยอะ
ที่มา cycleworld
อ่านข่าวสาร Honda เพิ่มเติมได้ที่นี่