ทำไมค่ายญี่ปุ่นทิ้ง Superbike แต่ค่ายยุโรปแตกไลน์ไม่หยุด

0

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางค่าย Yamaha ได้ทำการประกาศอย่างเป็นทางการว่า YZF-R1 และ YZF-R1M จะไม่มีการพัฒนาต่อให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro5+ ที่เข้มงวดขึ้นในปีหน้า ส่งผลให้รถสปอร์ตตัวท็อปรุ่นดังกล่าวจะต้องหายไปจากตลาดตามรุ่นน้องอย่าง YZF-R6 เมื่อสิ้นสุดปีนี้ แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมค่ายรถญี่ปุ่นถึงทะยอยถอนตัวออกจากตลาดรถสปอร์ต ในขณะที่ฝั่งยุโรปกลับเปิดตัวรุ่นย่อยใหม่แทบทุกปี?

Yamaha YZF-R1

ที่เราบอกว่ารถญี่ปุ่นเริ่มถอนตัวออกจากตลาดของรถกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความต้องการของตลาดยุคใหม่ที่ลดน้อยลง ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินพอที่จะซื้อรถมอเตอร์ไซค์หลายคัน แปลว่าหากลูกค้าเหล่านั้นสามารถซื้อรถได้แค่คันเดียว รถคันดังกล่าวก็มักจะเป็นรถที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้บ่อยและสะดวก เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าให้กับการซื้อ ไม่ใช่รถสปอร์ตที่มีพละกำลังสูงเกินจำเป็น แถมราคาก็สูงตามสเปค

เห็นได้จากการประกาศยกเลิกการจำหน่ายของ YZF-R1 และ YZF-R6 ซึ่งถุกแทนที่ด้วยสปอร์ตสายถนนอย่าง YZF-R7 และ YZF-R9 นอกจากนี้ค่ายรถร่วมชาติอย่าง Suzuki ก็ได้ทำการยกเลิกการจำหน่าย GSX-R1000 ไปเรียบร้อยแล้วในหลายตลาดทั่วโลก เช่นเดียวกับรุ่นน้องคลาสกลางอย่าง GSX-R600 และ GSX-R750 ที่ถูกทิ้งไปก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว แต่ก็ถูกแทนที่ด้วย GSX-8R สายถนนที่ได้รับความนิยมมากกว่า

Suzuki GSX-R1000R

ต่างกับค่ายรถฝั่งยุโรปอย่าง Ducati หรือ BMW ที่ยังคงอัพเดตสเปคของรถสปอร์ตตัวท็อปของตัวเองอย่างต่อเนื่อง แถมยังเปิดตัวรุ่นย่อยใหม่ที่มีราคาแพงมากขึ้น แรงมากขึ้น สเปคจัดเต็มขึ้นแทบทุกปีไม่ว่าจะเป็น Panigale V4 SP2 หรือ M1000RR นอกจากนี้ยังมีการแตกไลน์รถตัวแรงราคาแพงรุ่นอื่นที่ไม่ใช่รถสปอร์ตสายสนามอย่าง Multistrada V4 RS หรือ M1000XR

BMW M1000RR

ซึ่งเหตุผลที่ค่ายญี่ปุ่นถอนตัวออกจากตลาดขนาดเล็กที่ว่านี้ก็เป็นเรื่องของวิธีมองความคุ้มทุนที่ต่างจากค่ายรถจากยุโรป เพราะถ้าเทียบขนาดของบริษัทกันโดยตรง แผนกรถมอเตอร์ไซค์ของค่ายรถฝั่งญี่ปุ่น ก็มีขนาดใหญ่กว่าแผนกเดียวกันของรถยุโรปแบบเทียบกันไม่ติด อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ค่ายรถที่มีขนาดเล็กมักเน้นผลิตรถมอเตอร์ไซค์แนวพรีเมี่ยมราคาสูง ซึ่งมีกำไรต่อคันที่สูงกว่า เพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่น้อย

Yamaha YZF-R6

ค่ายรถขนาดเล็กเหล่านี้จึงเน้นพัฒนารถที่มีสเปคสูงขึ้นไม่หยุด เพื่อให้ตรงกับภาพลักษณ์แบรนด์แบบพรีเมี่ยม จัดเต็มเทคโนโลยีและความแรงในแบบที่หลุดโลก เพื่อที่จะสามารถตั้งราคาต่อคันได้สูงขึ้น ค่ายรถแนวนี้หลายรายจึงไม่ค่อยมีรถขนาดเล็กขายกัน เพราะกำไรต่อหน่วยที่น้อยกว่า และอย่าลือว่ากำลังการผลิตของพวกเขาก็ไม่เยอะเป็นทุนเดิมอยุ่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลให้พยายามไปต่อสู้โดยใช้จำนวน

แต่ค่ายรถรายใหญ่มักตั้งเป้าไปที่จำนวนการผลิตที่สูง และมีราคาจำหน่ายที่ถูกกว่า เนื่องจากตลาดรถราคาประหยัดสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า ถึงจะมีกำไรต่อคันที่น้อย แต่ก็สามารถชดเชยด้วยยอดขายที่มากกว่าหลายสิบเท่า ค่ายรถจากญี่ปุ่นจึงมองว่าการลงทุนพัฒนารถสปอร์ตตัวท็อปนั้นไม่คุ้มค่า หากเอาเงินจำนวนเท่ากันไปพัฒนารถตลาดที่ขายได้แน่ เนื่องจากตัวเองไม่มีปัญหาด้านกำลังการผลิตอยู่แล้ว

อ่านข่าวสารมอเตอร์ไซค์ใหม่ล่าสุดได้ที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!