รีวิว 2020 BMW S1000RR ฉลามโฉมใหม่ ได้มีดีแค่ปรับใบหน้า ณ สนามช้างฯ แบบเต็มๆ วันในคอร์สเรียน California Superbike School

0

หลังจากที่มีการเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาในงาน TIME2019 กับเจ้าฉลามพันโฉมใหม่ ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางเราได้มีรับเกียรติจากทาง BMW Motorrad Thailand เชิญร่วมทดสอบ 2020 S1000RR ใหม่ เป็นครั้งแรกในไทย ณ สนามช้างฯ พร้อมกับการเรียนการสอนในหลักสูตร California Superbike School ไปด้วยกัน เพื่อไม่ให้เสียเวลามารับชม รีวิว 2020 BMW S1000RR แบบ 1st impression ณ สนามช้างฯ กันเลย

Review-2020-BMW-S1000RR_12
เริ่มจากดีไซน์ภายนอกตัวรถ
2020 BMW S1000RR ในเจนเนอเรชั่น 3 นี้ จะเห็นได้ว่าทาง BMW ได้ปรับเปลี่ยนเส้นสายของมันในทุกจุด ไล่ตั้งแต่ด้านหน้า ที่มีการออกแบบให้ตัวรถดูมีความโหนกนูนมากขึ้น ส่วนโคมไฟหน้าก็ปรับมาเป็นแบบ LED-Projector ซ้าย/ขวา สมมาตรกันจากเดิมที่เป็นแบบตาเหล่ แต่ก็ไม่ลืมที่จะใส่ช่องแรมแอร์ขนาดใหญ่ไว้ตรงกลาง

Review-2020-BMW-S1000RR_05
และหากมองขึ้นไปด้านบนก็จะเห็นว่าทางค่ายได้ย้ายไฟเลี้ยวขึ้นไปไว้จุดเดียวกับกระจกมองข้าง

2020-BMW-S1000RR-TIME2019_07
นอกจากนี้ตัวไฟท้าย ที่หลายคนถามว่ามันหายไปไหน มันถูกยกมารวมอยู่ภายในดวงเดียวกันกับชุดไฟเลี้ยว ซึ่งยึดกับขาติดทะเบียน
โดยขาทะเบียนนี้ สามารถถอดออกได้อย่างสะดวกเวลาต้องการขี่ในสนาม
แต่โดยรวมถือว่าให้ความสว่างชัดเจนแถมยังมีประโยชน์ในเรื่องของการทำท้ายสั้นสำหรับลงสนามที่ดุเนียนตากว่าปกติด้วย

Review-2020-BMW-S1000RR_15ชุดแฟริ่งด้านข้าง แม้จะมีเส้นสายที่โค้งมนมากขึ้น แต่ BMW ก็ยังคงรักษาจุดเด่นดั้งเดิมของ S1000RR เอาไว้ นั่นก็คือครีบฉลาม 3 ช่องด้านขวา ที่มีการออกแบบให้เล่นมิติกับแฟริ่งนิดหน่อย ส่วนด้านซ้ายก็เป็นช่องว่างทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เปิดโล่งเอาไว้เพื่อระบายความร้อนจากพัดลม

Review-2020-BMW-S1000RR_06ขณะที่หลังตัวรถ ก็ถูกตัดท้ายให้สั้นกุดกว่าเดิมมาพร้อมตูดมดเป็นออปชันพื้นฐานออกศูนย์ แต่ถ้าใครอยากได้พักเท้าผู้ซ้อน กับเบาะผู้ซ้อนก็สามารถสั่งเป็นออปชั่นเพิ่มเติมได้

2019-bmw-s1000rr-dashboard-official-01ชุดหน้าจอมาตรวัดแบบ TFT-Full Color ขนาด 6.5 นิ้ว ที่ง่ายต่อการอ่านค่าในทุกสภาพแสง โดยผู้ขับขี่สามารถเลือกรูปแบบการแสดงผลได้ 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ Pure Ride ซึ่งเน้นการแสดงผลเฉพาะข้อมูลที่สำคัญต่อการขับขี่ และ Core Ride ที่สามารถเลือกการแสดงผลค่าต่างๆ เพิ่มได้อีก 3 รูปแบบ เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกการแสดงผลที่เหมาะกับสไตล์การขับขี่ที่หลากหลายได้ตามความต้องการ

Review-2020-BMW-S1000RR_Tankถังน้ำมันขนาดความจุ 16.5 ลิตร ขนาดเล็กลงกว่าเดิมประมาณ 1 ลิตร

แชสซีส์หรือโครงสร้างหลักตัวรถเป็นแบบอลูมิเนียมหล่อ “Flexframe” ที่ใช้พื้นที่บริเวณถังน้ำมันและเบาะนั่งน้อยลง จึงเพิ่มพื้นที่สำหรับการรองรับน้ำหนักและที่รองเข่ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จุดสัมผัสระหว่างผู้ขับขี่และตัวรถยังได้รับการออกแบบใหม่ให้สอดรับกับองศาระหว่างผู้ขับขี่ มือจับทั้งสองข้าง เบาะนั่ง และที่พักเท้า เพื่อให้ผู้ขับขี่อยู่ในท่วงท่าที่สบายที่สุดตามหลักสรีระศาสตร์

โดยรวมตัวรถ S1000RR ใหม่ เบาลงกว่าเดิมถึง 11 กก. เหลือ 197 กก. เท่านั้น เบากว่าคู่แข่งเครื่อง V4 จากฝั่งอิตาลี ทั้ง 2 แบรนด์ อยู่ 1-2 กก.

Review-2020-BMW-S1000RR_Mufflerท่อไอเสียดีไซน์ใหม่ ปลายสั้นลงกว่าเดิม ซึ่งระบบท่อไอเสียใหม่นี้ เบากว่าเดิม 1.3 กก. เลยทีเดียว

ชุดล้อเป็นแบบอลูมิเนียม Die Cast ด้านหน้ารัดด้วยยางไซส์ 120/70-ZR17 ด้านหลังรัดด้วยยางไซส์ 190/55-ZR17

Review-2020-BMW-S1000RR_Wheelอย่างไรก็ดี ใครที่อยากอัพเกรดเสริมสมรรถนะและความหล่อ สามารถเลือก ชุดแต่ง M ซึ่งประกอบไปด้วย ล้อ M, ก้านเบรก+คลัทช์ M และท่อไอเสีย Akrapovic ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะช่วยรีด นน. ตัวรถลงไปได้อีก 3.5 กก. เหลือ 193.5 กก.

2020-BMW-S1000RR-TIME2019_06ส่วนมิติตัวรถ
ด้านกว้าง 848 มิลลิเมตร (ไม่รวมกระจกมองข้าง), ด้านสูง 1,151 มิลลิเมตร (ไม่รวมกระจกมองข้าง),
เบาะนั่งสูง 824 มิลลิเมตร, ระยะฐานล้อ 1,441 มิลลิเมตร, น้ำหนักตัวแบบรวมของเหลวขี่อยู่ที่ 197 กิโลกรัม

Review-2020-BMW-S1000RR_PON_1ท่านั่ง
อย่างที่บอกไปครับว่า 2020 S1000RR ใหม่ ได้มีการปรับปรุงในเรื่องของสรีระศาสตร์ ทำให้ท่านั่งโดยรวมดูเป็นมิตรมากขึ้น
ช่วงแผงคอ ตำแหน่งแฮนด์ ดูจะมีองศา ที่ไม่แคบเกินไปทำให้การคอนโทรลวงเลี้ยวทำได้ไม่ลำบาก ตำแหน่งแฮนด์ดูจะไม่ต้องก้มหมอบมากนัก
รวมถึงถังน้ำมันที่มีขนาดเล็กลงประมาณ 1 ลิตร ทำให้ถังไม่ใหญ่มาก ดูหนีบขาได้กระชับยิ่งขึ้น รวมถึงเวลาโหนตัวในโค้ง ก็ทำได้ดีขึ้น

Pon-2020-BMW-S1000RRส่วนตำแหน่งเบาะความสูงมาตรฐาน 824 มม. ผมสูง 175 ซม. สวมรองเท้าบูท ก็เหยียบได้เกือบๆ เต็มเท้า
แต่หากใครอยากได้เบาะเตี้ย 814 มม. (เท่ากับ S1000RR โฉมก่อน) ก็สามารถสั่งซื้อ เบาะ M แบบเตี่ยพิเศษที่มีความสูง 814 มม. ได้ หรือ หากใครชอบสูงพิเศษ ก็มีให้เลือกที่ 849 มม.

Review-2020-BMW-S1000RR_09เครื่องยนต์เป็นแบบ 4 สูบเรียง ขนาดความจุ 999cc มาพร้อมระบบวาล์วแปรผัน “ShiftCam” ทำกำลังได้สูงสุด 152 kW (204 HP หรือ 207 PS) ที่ 13,500 รอบ/นาที และทำแรงบิดสูงสุดได้อีก 113 นิวตันเมตรที่ 11,000 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านระบบ Assist&Slipper Clutch และเสริม Shift Assistant Pro แบบ 2-Way (ขึ้นลง) ช่วยให้เข้าเกียร์ได้ไหลลื่นยิ่งขึ้นพร้อมทำความเร็วสูงสุด มากกว่า 299 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15.6 กิโลเมตร/ลิตร

สำหรับ Shiftcam นั้น เป็นเทคโนโลยีวาล์วแปรผัน ที่ถูกนำมาใช้ใน R1250GS กันไปก่อนหน้านี้ แล้ว ในคราวนี้ BMW ยกมาใช้ในเครื่อง 4 สูบเรียงบ้างแล้ว
จากการสอบถามข้อมูลเทคนิค จะพบว่า Shiftcam จะมีการยืดระยะออกไปอีก 8 มม. ที่ช่วงรอบ 9,000-14,000rpm
ซึ่งจากการที่ผมลองสังเกตุในช่วงขี่ (ใน Session แรก ที่ขี่ได้เพียงเกียร์ 4 เกียร์เดียว และต้องลากรอบ) จะพบว่า จังหวะขี่ลากรอบในช่วงราวๆ 9,000rpm ขึ้นไปนี้จะสั่นมาก รู้สึกว่าสะท้านขึ้นแฮนด์ มากกว่าโฉมเดิม

Review-2020-BMW-S1000RR_PON_2ในเรื่องของเรี่ยวแรงนั้น นอกจากกำลังสูงสุดที่มากกว่าโฉมเดิมถึง 8 แรงม้า ที่รอบสูงแล้วนั้น
ต้องบอกว่าเครื่องบล็อกใหม่นี้ มีย่านกำลังที่สูงกว่าโฉมก่อนหน้า อย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในช่วงย่านรอบเครื่องกลางๆ (5-8,000rpm) ทั้งแรงบิด และแรงม้า

โดยเฉพาะทอร์ค ที่รีดออกมาได้สูงกว่า 100 Nm ตั้งแต่ 5,500rpm – 14,500rpm
ทำให้เวลาเราเปิดคันเร่งแล้วรู้สึกว่าช่วง Powerband จะดูกว้างกว่า ขี่ได้สนุกโดยไม่จำเป็นต้องรีดรอบสูงเข้า Redline โดยตลอด

นอกจากนี้ระบบ QuickShift (Shift Assit Pro) แบบ 2 Way ถือว่าทำงานได้เนียนกริ๊ป ยัดคันเร่งแบบหมดปลอก เตะเกียร์ขึ้นทันทีโดยไม่ต้องผ่อนคันเร่ง
เกียร์ดูนิ่มเข้าง่าย ทั้งขึ้นและลง ไม่พบข้อผิดพลาดใดๆ
นอกจากนี้ ในเวลาเราจอดรถ หาตำแหน่งเกียร์ N ก็ง่าย คันเกียร์ไม่แช็ง
รวมถึงน้ำหนักคลัทช์ นั้นก็ไม่ถือว่าสบายนิ่มมือ ซึ่งก็ได้อานิสงค์จาก Slip Assist Clutch

Review-2020-BMW-S1000RR_3การขี่ในช่วงแรกนั้น ทางครูฝึกจะให้เริ่มที่ Rain Mode ก่อนเพื่อปรับความคุ้นชิน พร้อมกับการฝึกการเดินคันเร่งของเรา
ซึ่งการใช้เกียร์ 4 ทั้งสนาม โดยห้ามใช้เบรก ถือว่าเป็นอะไรที่ท้าทายผมมากพอสมควร แต่ก็ไม่ติดปัญหาอะไร เพราะคันเร่งค่อนข้างสมูท และการส่งกำลังทำได้ลื่นไหล เรายังสามารถฝึกเดินคันเร่งให้เนียนได้ไม่ยากนัก

เมื่อเข้าสู่ Session 4 ผมปรับเป็น Race ล่ะ ซึ่งปรากฎกว่า กระชาก และคันเร่งค่อนข้าง Responsive มากทีเดียว เพราะ ผมดันชินกับคันเร่งใน Rain Mode มาก่อน รู้สึกรถดึงหนักขึ้น
ส่งกำลังมากขึ้น เร้าใจยิ่งกว่าเดิม แต่นั่นก็ทำให้จังหวะเดินคันเร่งในโค้งผมเองอาจจะยังทำได้ไม่ดี เพราะชินกับคันเร่งใน Mode Rain มาถึง 3 Session

ใน Session 5 สุดท้าย ทางครูฝึกให้เราใช้ได้ทุกเกียร์ เบรกได้ ตามที่ต้องการ ใน Session นี้ผมลองขยับกลับมาที่ Road Mode ดู บ้าง เพราะ รู้สึกว่า ใน Race Mode เรายังเดินคันเร่งไม่เนียนนัก ซึ่งในรอบนี้ รู้สึกขี่ได้เข้ามือมากๆ รวมถึงครูฝึกให้เราใช้ได้ทุกเกียร์เบรกได้ตามต้องการ ทำให้ขี่ได้มั่นใจยิ่งขึ้น ไม่เกร็งเครียดพะวงจนเกินไป

อย่างไรก็ดีเรื่องความเร็วปลายนั้นผมไม่ทราบว่ากดไปเท่าไร เพราะครูฝึกแปะเทปดำไม่ให้เราเห็นตัวเลขความเร็วเพื่อจะได้ไม่ไปโฟกัสกับมันมาก เน้นการขี่ที่ถูกต้องมากกว่า
แต่ส่วนตัวจากที่ผมได้ทดสอบ 2020 YZF-R1 ไปก่อนหน้านี้ ผมคาดว่า ผมน่าจะทำได้ตัวเลขในช่วง 260-270 กม./ชม.

Review-2020-BMW-S1000RR_04ระบบกันสะเทือนจาก Marzocchi (ในคันทดสอบเป็นแบบโช้กอัพไฟฟ้า DDC)
ใช้โช้กหน้าหัวกลับขนาดแกน 45 มิลลิเมตร ระยะยุบ 120 มม.
ปรับเซ็ทได้ทุกค่า, โช้กหลังเดี่ยวแบบแก๊สมีซับแทงค์แยกปรับเซ็ทได้ทุกค่าเช่นกัน และทำงานร่วมกับกระเดื่องทดแรงพร้อมสวิงอาร์มอลูมิเนียมฟอร์จทรงปีกนกคว่ำสไตล์ตัวแข่ง WSBK นอกจากนี้ยังมีระบบ Dynamic Damping Control (DDC) ที่ช่วยปรับค่าความหนืดของโช้กทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วยระบบไฟฟ้าตลอดเวลาตามสภาพผิวถนนและโหมดการใช้งาน (ออปชั่นเสริม)

Review-2020-BMW-S1000RR_07

ในการขี่ในสนามช้างที่ผิวแทร็กค่อนข้างเรียบเนียนนี้ ต้องบอกว่าแทบไม่ค่อยเจอปัญหาแต่อย่างใด
อาจพบบางช่วง เช่น T1 ที่เป็นโค้งหักนิดๆ ด้วยความเร็วสูง อาจมีอาหารหน้าส่ายเบาๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะ ครูฝึกได้บอกเราในคลาสแล้วว่า มันเป็นปกติเมื่อเราขี่ด้วยความเร็ว และเดินคันเร่งเต็มที่แฮนด์จะไม่ได้นิ่งตรงอยู่กับที่ตลอดแต่มีอาการส่ายอยู่บ้าง นอกจากนี้ก็จะมีอีกนิดหน่อย ในช่วงที่เดินคันเร่งออกจาก T3 ซึ่งก็กดคันเร่งเต็มจากเกียร์ 3 แอบรู้สึกนิดๆ ว่าเหมือนล้อจะลอยสักเล็กน้อย และหน้าดิ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้มีอาการสะบัดรุนแรงจนน่ากลัว เพียงแค่ ค่อยๆประคองตามอาการของรถไป และสักพักตัวรถก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติที่มันควรจะเป็น

Review-2020-BMW-S1000RR_PON_3มีจุดหนึ่ง ในจังหวะที่เราเข้าโค้ง ที่ผมรู้สึกว่ารถมันน่าจะพลิกได้เร็วฉับไวกว่านี้อีกหน่อย และลงได้มากกว่านี้อีกหน่อย
เนื่องจากยางปกติติดรถจะเป็นยางสปอร์ตที่เป็น 2 Compound ที่เนื้อยางจะเน้นไปในการใช้งานในสนามที่ค่อนข้างมากหน่อย ซึ่งมันจะดูดโค้งได้ดี (ได้ลองในรถ S1000R โฉมเน็คเก็ต ตอนฝึก Counter Steer ที่ลานจอดด้านนอก ยางดูดโค้งดีมากพลิกเลี้ยวได้ง่ายและเร็ว)
แต่ยางที่ให้ในรถของนักเรียนทั้งหมด จะเป็นยางสปอร์ตแบบ Road Race ที่ออกไปใช้งานบนถนนมากกว่า จึงทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ดูดโค้งเท่าที่ควร

Review-2020-BMW-S1000RR_08ระบบเบรก
ชุดปั๊มเบรกคู่หน้าเป็นแบบเรเดียลเมาท์ 4 พอร์ท ตีแบรนด์ BMW ทำงานร่วมกับจานเบรกขนาด 320 มิลลิเมตร

ส่วนจานเบรกด้านหลังมีขนาด 220 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับปั๊มลอยตัว 2 พอร์ท และระบบเบรก ABS Pro ซึ่งนอกจากจะมีระบบ Cornering ABS ในตัวแล้ว ยังสามารถปรับความถี่การทำงานของตนเองได้อัตโนมัติตามสภาพผิวถนนด้วย

ภาพรวมการใช้งานเรื่องเบรกนั้น โดยรวมยังคงทำหน้าที่ได้ดี เบรกหยุดได้อยู่มีพละกำลัง แต่แอบรู้สึกว่าปั๊มเบรกตี BMW ตัวใหม่ นี้จะบีบแล้วไม่จิกมือเหมือนปั๊มตัวอื่นๆ
ซึ่งผมอาจจะคิดไปเองก็ได้ เพราะการเรียนในครั้งนี้ ครูฝึกพยายามจะให้เราใช้เบรกให้น้อยที่สุด และอาจจะไม่ชินกับการลงน้ำหนักเบรกในช่วงแรกๆ

แต่ใน Session ท้ายๆ ที่สามารถเบรกได้เต็มที่ และใช้ได้ทุกเกียร์ ก็รู้สึกว่าไม่มีปัญหากับเบรก การคอนโทรลต่างๆ ทำได้ดีไม่ติดปัญหาใดๆ

Review-2020-BMW-S1000RR_13ในส่วนของระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ 2019 BMW S1000RR ยังคงจัดเต็มที่สุดเป็นอันดับต้นๆของซุปเปอร์ไบค์คลาส 1000cc เริ่มจาก โหมดการขับขี่ 4 ระดับ (Road, Dynamic, Race, และ Rain), Wheelie Control (ปรับค่าไม่ได้), Hill Start Control Pro, ABS Pro, Shift Assistant Pro เป็นระบบจัดการตัวรถพื้นฐาน ปรับเซ็ทค่าทั้งหมดที่ประกับแฮนด์ซ้าย/ขวา

และถ้าหากระบบทุกอย่างที่เราไล่มายังมีไม่พอ BMW ยังมีแพ็คเกจซอฟท์แวร์เสริมอีกหลายรายการ อาทิ Race Pro Mode 1-3 ที่ผู้ใช้สามารถปรับค่าทุกอย่างเองได้อีก 3 โหมด , Cruise Control, Engine Brake Control, Launch Control, Slide Control, Wheelie Control (ปรับค่าได้), Pit Lane Limiter, Heat Grip, Tire Pressure Monitor, DDC

Review-2020-BMW-S1000RR_7
สรุป รีวิว 2020 BMW S1000RR แบบ 1st impression ณ สนามช้างฯ ในครั้งนี้ พร้อมกับคอร์ส Racing School จาก California Superbike School ก็ถือว่าทำให้เราได้รับรู้ถึงสมรรถนะของฉลามคันนี้ที่ไม่ได้มีดีแค่ใบหน้าใหม่เท่านั้น และเรายังได้เทคนิคใหม่ๆ ที่เอาไว้ใช้ขี่ในสนามจากหลักสูตรนี้อีกด้วย จนแทบจะเรียกได้ว่าโชคคูณสอง

โดยรวมแล้วผมประทับใจกับฉลามหน้าหวานคันนี้ ส่วนตัวผมถือว่าเป็นรถที่ขี่คอนโทรลได้ง่ายขึ้น ท่านั่งดูเป็นมิตรกว่าเดิม คือขี่แล้วเป็น Superbike ที่ขี่ได้สนุกไม่เครียดไม่เหนื่อย เหมือน Superbike บางรุ่น เรียกได้ว่าขี่แล้วเข้ามือมั่นใจ อยากขี่ต่อ เพราะ นน.ตัวที่ลดลง และพละกำลังสูงขึ้น กับเทคโนโลยีต่างๆ ช่วยให้ผมสนุกจนไม่อยากจะจบ Session 5 ของวันเลย

มีข้อสังเกตุอย่างหนึ่ง คือ 2020 BMW S1000RR ในเรื่องเทคโนโลยีหลายอย่าง ยังดูเหมือนจะต้องเก็บไว้เป็นออปชั่นแพ็คเกจเสริม ที่ต้องให้ลูกค้าจ่ายเพิ่มเติมกันอีกหน่อย

2020-BMW-S1000RR-TIME2019_2Colorสำหรับราคา 2020 BMW S1000RR ใหม่ อยู่ที่ 1.02 ล้านบาท (สีแดง) และ 1.05 ล้านบาท (สี Tri Color)
โดยทั้ง 2 สี มาพร้อม BMSI โปรแกรมบำรุงรักษา 3 ปี หรือ 30,000 กม. ขณะที่การรับประกันตัวรถอยู่ที่ 3 ปี ซึ่งไม่จำกัดระยะทาง

Review-2020-BMW-S1000RR_pon_Certificateขอขอบคุณ BMW Motorrad Thailand สำหรับ กิจกรรมทดสอบ 2020 BMW S1000RR ใหม่ พร้อมการเรียนในหลักสูตร California Superbike School ในครั้งนี้

ภณ เพียรทนงกิจ Tester/Writer
รณกฤต ลิมปิชาติ Co Writer

อ่านข่าว BMW เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่าน รีวิว อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!