วิเคราะห์ ม.44 แต่งรถผิด ไม่ผิด?

0

เมื่อสัปดาห์ก่อน (23 กค. 2015) ทาง คสช. นำโดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้ใช้ มาตรการ 44 รัฐธรรมนูญ 2557 (ม.44) ออกกฎ 10 ข้อ ปราบปรามการแข่งขันรถบนถนนหลวง และควบคุมกำชับร้านขายเครื่องดื่มสถานบริการ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ได้ส่งผลต่อบรรดาผู้แข่งรถซิ่งกันเป็นวงกว้าง ซึ่งในวันนี้ทาง MotoRival ของเราจะขออนุญาตมา วิเคราะห์ ม.44 แต่งรถผิด ไม่ผิด?

จากการออกกฎข้อบังคับทั้งสิ้น 10 ข้อ จะมีอยู่ 2 ข้อ ซึ่งดูจะเป็นปัญหาแก่บรรดาผู้รักการแต่งรถ ทั้ง 2 ล้อ และ 4 ล้อ

harley-davidson-meeting
ข้อ ๑ ห้ามมิให้ผู้ใดรวมกลุ่มหรือมั่วสุมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมในลักษณะหรือโดยพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการนําไปสู่การแข่งรถในทางอันเป็นความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก
ข้อนี้กล่าวชัดเจน การรวมกลุ่มผู้รักรถ หรือ Meeting Car Club นั้น มีสิทธิที่จะถูกเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบว่าอาจเป็นพฤติการณ์ที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถในทางหรือไม่ ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบดังกล่าว ดังนั้นการจัด Meeting Car Club ที่ไม่ได้มีหมายกำหนดการ หรือการจัดแบบเป็นทางการ หากจัดกันเองแบบเรียบง่ายสบายๆ หากเจ้าหน้าที่พบก็อาจโดนตรวจสอบได้ครับ

Hayabusa-Fat-Rat
ข้อ ๓ ผู้ใดผลิต ครอบครอง จําหน่าย ประกอบ ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ หรือการทําชิ้นส่วนพิเศษหรืออุปกรณ์สําหรับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์หากกระทําการนั้นในลักษณะที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นการตระเตรียม ยุยง ส่งเสริม สนับสนุน ชักชวน จัดให้มี จัดหา เป็นธุระ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนําไปสู่การแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางให้ถือว่าผู้นั้นกระทําในลักษณะเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก

ข้อนี้เป็นการตีความเหมารวม ตั้งแต่ผู้ผลิต, จำหน่าย ไล่มาร้านตกแต่ง จนมาถึงผู้บริโภคที่แต่งรถของตน
ในความหมายข้อนี้ กล่าวถึงการดัดแปลงสภาพที่มีส่วนนำไปสู่การแข่งรถในทาง
ดังนั้นหากตีความในประเด็นดังกล่าว ผู้ที่ตกแต่งรถเพื่อความสวยงาม (ภายนอก) จะเข้าข่ายในการดัดแปลงสภาพที่นำไปสู่การแข่งรถ หรือไม่?
ในความเป็นจริงไม่น่าจะเกี่ยงข้องโดยตรง เพราะรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ หลากหลายรุ่นก็ได้มีชุดแต่งของแบรนด์ตนเองออกวางจำหน่ายด้วย
ซึ่งการตกแต่งนั้นๆ ก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งในเรื่องการติดป้ายทะเบียน, ติดตั้งไฟซีนอนที่มีอุณหภูมิแสงที่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เป็นต้น

สำหรับผู้ที่โมดิฟายด์เกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์ที่ใช้สำหรับการแข่งขันในรายการต่างๆ ก็ไม่ควรที่จะนำรถคันดังกล่าวออกมาวิ่งใช้งานบนถนน หากต้องการเคลื่อนย้ายรถไปยังสนามแข่ง ควรที่จะขนรถขึ้นพาหนะที่จัดเตรียมไว้สำหรับการเคลื่อนย้ายรถโดยเฉพาะ และที่สำคัญควรพกหลักฐานหรือเอกสารที่ระบุว่ารถคันดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการแข่งขันนั้นๆอย่างถูกต้อง

แล้วถ้าเปลี่ยนของเล็กๆ น้อยล่ะ เช่นกรองอากาศ, ระบบท่อไอเสีย ซึ่งในส่วนตรงนี้ถ้าตีความตามเอกสารรูปเล่มที่ระบุรายละเอียดของตัวรถ คงไม่มีรายละเอียดลงลึกถึงขั้นนี้ นอกเสียจากการปรับเปลี่ยนไซส์ความจุเครื่องยนต์ ซึ่งแบบนี้เข้าข่ายผิดแน่นอน แต่ด้วยช่วงนี้หากจะวิเคราะห์ตีความว่าการเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยพวกนี้จะนำไปสู่การแข่งหรือไม่นั้น ถ้าไม่ใช่การเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดก็คงไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่อีกเช่นกัน ในการตรวจสอบ ซึ่งเราให้น้ำหนักกับเรื่องเสียงเป็นประเด็นสำคัญมากกว่า ผู้ที่เปลี่ยนท่อไอเสียมาควรระมัดระวังไม่ควรให้ท่อไอเสียของตนดังเกิน 95db ตามเกณฑ์กฎหมาย

สำหรับผู้ที่เป็นร้านตกแต่งโมดิฟายด์รถสำหรับใช้แข่งขัน(อย่างถูกต้อง) หรือ อู่ซ่อมรถ ทางร้านจะต้องมีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแสดงหากถูกตรวจสอบ

อ่านข่าว คสช. ออกกฎเหล็ก 10 ข้อได้ที่นี่
อ่าน ทิป-เทคนิค สาระ อื่นๆได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

Background EXP in Automotive journalists more than 10 Years Writer & Test Driver @Pantip Garage 2018-Present @9carthai 2015- 2017 @Torque & VIPStyle Magazine 2015 @Autospinn 2012-2015 @GTmania.tv 2009-2010

error: Content is protected !!