5 สิ่งที่มักทำกันผิดบ่อยๆ เวลาขี่ SuperMoto

0

หากให้เพื่อนๆลองลองประเภทรถมอเตอร์ไซค์ประเภทใดก็ได้มาขับขี่ โดยมีโจทย์ว่าต้องขับสนุกและใช้ได้ทุกสถานการณ์ เราเชื่อเลยว่าตัวเลือกแรกๆของเพื่อนๆจะต้องเป็นรถแนว “Supermoto” ที่สามารถสลับอารมณ์จากการเป็นสิงห์สนามฝุ่นให้กลายเป็นเสือสนามเรียบด้วยการเปลี่ยนหน้ายางเท่านั้น (ถ้าไม่นับรวมการเซ็ทโช้กหนังหลังกับอัตราทดเฟืองท้ายล่ะก็นะ)

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเพื่อนๆจะเปลี่ยนหน้ายางของรถให้เป็นแบบสลิคเพื่อใช้ลงสนามทางเรียบแล้วก็ตาม แต่ใช่ว่าเพื่อนจะสามารถใช้ท่วงท่าหรือเทคนิคที่สร้างมาเพื่อใช้กับการขับขี่รถแนว “Supersport” ได้ทั้งหมด เพราะอย่าลืมนะครับว่ายังไงรถ “Supermoto” มันก็มีพื้นฐานมาจากรถ “Enduro” ที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงแถมโช้กยังยืดยุบไปมาพอสมควร ไหนจะแฮนด์บาร์ทรงกว้าง และพักเท้าที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เอื้อต่อการแทงเข่าอีก

ทำให้มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเพื่อนๆที่เคยขับเพียงแค่ “Sport-bike” หรือ “Naked-bike” แต่ไม่เคยมีพื้นฐานในการขับขี่สายฝุ่นมาก่อนจะสามารถนำเจ้าลูกครึ่งสูงโย่งอย่าง Supermoto คันนี้ไปหวดได้ดั่งใจในทันที

ดังนั้นในวันนี้เราจึงจะมาพูดถึง 5 สิ่งที่เหล่าไบค์เกอร์สายเซอร์กิตผู้ไม่เคยผ่านการฝึกขับขี่แบบคลุกฝุ่นมาก่อนมักจะทำแบบผิดๆเป็นประจำให้ได้ทราบกันพร้อมกับบอกวิธีการที่เหมาะสมไปในตัวในบทความนี้ มาเริ่มกันเลยครับ

2016-Husqvarna-701-Supermoto_Lean-Angle
– โหนรถ
อยากที่หลายๆคนทราบกันว่าท่านั่งในการเข้าโค้งขณะขับสปอร์ตไบค์ หรือซุปเปอร์ไบค์หลายๆคันจะต้องเป็นท่า “Hang-in” หรือที่เรียกกันแบบไทยๆว่า “โหนรถ” โดยการย้ายก้นไปที่ตำแหน่งเกือบท้ายเบาะ แล้วโหนตัวทั้งหมดเข้าสู่ด้านในของตัวรถเพื่อย้ายจุดศูนย์ถ่วงเข้ามาด้านใน

แต่ในรถซุปเปอร์โมโตมันไม่ใช่อย่างนั้นครับ สำหรับท่านั่งในการขับขี่ของรถแนวนี้ก็คือ การทำสลับกับรถสปอร์ตไบค์ทั้งหมด ทั้งการย้ายก้นออกนอกตัวรถพร้อมกับตั้งตัวให้หนีการเอียงของตัวรถเข้าไว้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ท่านั่งของเราเหมาะสมกับตัวรถอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

2016-Husqvarna-701-Supermoto_5
– กางขามากไป
เสต็ปต่อไปเมื่อเพื่อนๆหลายคนเริ่มเข้าใจกันมาขึ้นแล้วเราจะมาพูดถึงการกางขาที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการขับรถแนวนี้กันบ้าง โดยสาเหตุที่เราต้องเลือกกางขานั้นก็เพราะว่า ตำแหน่งพักเท้าของรถแนวนี้นั้นไม่ได้เอื้อต่อการแทงเข่า แถมท่านั่งที่ควรจะเป็นก็คือการย้ายก้นออกนอกโค้งอย่างที่เราบอกไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเอาเข่าเป็นตัววัดองศาการเอียงของรถได้ และนี่จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องกางขาเพื่อวัดองศาแทนเข่าในรถซุปเปอร์โมโต

โดยจุดสำคัญสำหรับการกางขาก็คือ ตำแหน่งในการนั่งที่จะต้องย้ายก้นมาไว้ให้ใกล้กับแฮนด์บาร์ที่สุดไว้ก่อน เพื่อเอาน้ำหนักตัวทั้งหมดไปกดล้อหน้าไว้เนื่องจากในรถซุปเปอร์โมโต จุดศูนย์ถ่วงจะตกไปอยู่ช่วงท้ายของตัวรถซะส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าหากเราไม่ย้ายตำแหน่งในการนั่งมาไว้ด้านหน้าตัวรถ น้ำหนักก็จะไม่กดไปด้านหน้าและสูญเสียกริปที่ล้อหน้าจนเกิดการพลิกหรือพับไปในที่สุด

หลังจากนั้นจึงค่อยยกขามาไว้ด้านหน้าพร้อมกับกางออกเท่าที่จำเป็นเท่านั้น (ที่จริงคือแทบไม่ต้องกางออกเลยด้วยซ้ำ แต่ใช้การยกขาแล้วเตะเท้าไปข้างหน้าแทนเพื่อรักษาสมดุลหน้าหลังไปในตัว) เพราะการยื่นขาออกมามากเกินไปนอกจากจะทำให้รถเสียสมดุลแล้ว ยังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเพราะถ้าเกิดเราพลาดล้มขึ้นมา แทนที่ขาจะหุบเข้าหาตัวรถมันกลับจะถูกลากสวนทางกับทิศที่รถไปและเกิดอาการแข้งขาหักในที่สุด

2016-Husqvarna-701-Supermoto_3
– กำคลัทช์ในโค้ง
ในรถซุปเปอร์โมโตส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเครื่องยนต์สูบเดียวและสนามที่ใช้แข่งก็จะเน้นในเรื่องของช่วงโค้งแคบและสั้น ทำให้นักบิดมือใหม่ทั้งหลายมักจะกำคลัชท์ในโค้งเนื่องจากว่ากลัวตัวรถดับกลางโค้ง แต่หารู้ไม่ครับว่านี่คือพฤติกรรมที่พาล้มที่สุด เนื่องจากขณะที่เรากำคลัชท์อยู่นั้นเราไม่สามารถจัดการกลับแรงหน่วงของเครื่องยนต์หรือ Engine Brake ได้เลย ส่งผลให้ตัวรถเกิดอาการเลี้ยวไม่เข้าและหลุดโค้ง หรือถ้าไม่อย่างนั้นอาจจะพับเอาดื้อๆเพราะตัวรถไม่มีแรงส่งตัวเองให้กลับมาตั้งตรงเหมือนเดิม

2016-Husqvarna-701-Supermoto_4
– เลี้ยวเร็วเกินไป
สำหรับหัวข้อนี้อาจจะไม่ใช่แค่สำหรับในรถซุปเปอร์โมโตเท่านั้น เพราะการหักเลี้ยวเข้าหาโค้งเร็วเกินไปจะทำให้เราบานออกในช่วงกลางโค้งและพุ่งออกทั้งอย่างนั้นจนหลุดลงไหล่ทางไปในที่สุด ดังนั้นการเลี้ยวเข้าหาโค้งที่ปลอดภัยที่สุดคือจะต้องพยายามวางไลน์ให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการเริ่มหักเลี้ยวเมื่อเห็นหัวโค้ง (จุด Apex) และปลายโค้งแล้วเท่านั้น จึงจะทำให้ตัวรถสามารถพุ่งออกจากโค้งได้อย่างปลอดภัย

2016-Husqvarna-701-Supermoto_1
– ปล่อยเบรกเร็วเกินไป
หลายคนอาจจะคิดว่าการปล่อยเบรกก่อนเข้าโค้งนั้นยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นเรื่องดี เพื่อเลี่ยงอาการล้อล็อคตอนกำลังจะหักเลี้ยวเข้าโค้ง แต่รู้หรือไม่ว่าการเบรกในจุดที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่เราปล่อยเบรกเร็วไป จะทำให้น้ำหนักของเราไม่ไปกดที่หน้ายาง (ซึ่งแต่เดิมมันก็แทบไม่มีอยู่แล้วในรถซุปเปอร์โมโต) และถ้าเราเลี้ยวไปทั้งอย่างนั้นกริปหรือแรงยึดเกาะที่หน้ายางก็อาจจะไม่มากพอจนล้มพับไปอีกก็ได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการหาจุดเบรกให้เจอ และเลี้ยงเบรกด้วยน้ำหนักที่เหมาะสมจนกว่าจะเริ่มหักเลี้ยวแล้วจึงปล่อยเบรกออกไปพร้อมกับการคลอคันเร่งเสริมเพื่อทรงตัวในโค้งแทน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจซักหน่อย แต่มันจะทำให้เพื่อนสามารถสนุกไปกับการขับขี่รถซุปเปอร์โมโตคู่ใจของเพื่อนๆแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก Socal Supermoto

อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าว Supermoto เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!