Bimota KB998 ซุปเปอร์ไบค์คันใหม่ล่าสุด ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเฟรมจากอิตาลี Bimota และผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์รายใหญ่จากญี่ปุ่น Kawasaki โดยมันจะเข้ามาทำหน้าที่ต่อสู้ในรายการแข่งขันรถโปรดักชั่นระดับโลกอย่าง WSBK ในฤดูกาลหน้า ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะยังมีคำถาม หรือความเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับรถรุ่นนี้ วันนี้เราเลยจะขอมาไขข้อสงสัย และชวนวิเคราะห์กัน ว่าทำไมค่ายเขี่ยวถึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแผนการแข่งขนานใหญ่ในครั้งนี้
สิ่งแรกที่เราต้องอธิบายกันคือ Bimota จะไม่ได้เข้ามาแข่งขันใน WSBK ในฐานะทีมแข่งรายใหม่ หรือเป็นทีมรองที่ลงต่อสู่ควบคู่กับ Kawasaki Racing Team ทีมเป็นทีมโรงงานของค่ายเขียว แต่พวกเขาคือทีมโรงงานเดิมของค่ายเขียวเองเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นนักแข่งหรือทีมงานในทีมก็เป็นชุดเดิมแทบทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นเหมือนการเปลี่ยนชื่อทีม และเปลี่ยนรถแข่งใหม่นั่นเอง
ถัดมาคือ Bimota ไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นแค่ผู้สนับสนุนทีมแข่งแค่ชื่อเพียงอย่างเดียว เหมือนกับกรณีของชื่อค่าย GASGAS ที่ติดอยู่บนรถแข่งของ KTM ในเวที MotoGP แต่รถคันนี้เป็นรถที่ทั้งสองค่ายพัฒนาร่วมกัน โดยทาง Bimota จะรับหน้าที่พัฒนาโครงสร้างของตัวรถ ในขณะที่ Kawasaki จะรับผิดชอบด้านเครื่องยนต์ เพราะเครื่องยนต์ลูกนี้ก็เป็นของที่ยกมาจาก ZX-10RR ที่มีขายอยู่แล้ว
และคำถามที่ตามมาคือ “ทำไม Kawasaki ต้องลงทุนเปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้?” เพราะการทำแบบนี้ก็เหมือนเป็นการทำให้ตัวแข่งของ Kawasaki อย่าง ZX-10RR ที่ลงแข่งขันในฐานะทีมโรงงาน Kawasaki ต้องหายไปจากสนาม
ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ เราเชื่อว่าเป็นเพราะเรื่องของผลงานในช่วงหลังของค่ายในเวที WSBK ที่ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งจากยุโรปอย่าง Ducati Panigale V4 R หรือ BMW M1000RR ได้เลยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เพราะถ้าเราดูที่ค่ายรถจากยุโรป ก็จะเห็นได้ว่าค่ายรถเหล่านี้เปิดตัวรถรุ่นสเปคสูงพิเศษสำหรับเน้นใช้งานในสนาม ในราคาแพงพิเศษออกมาไม่หยุด แถมยังปรับโฉมเปลี่ยนสเปคให้เท่าทันเทคโนโลยีอยู่ตลอดแทบทุกปี ต่างกับค่ายรถรายใหญ่จากญี่ปุ่น ที่กว่าจะปรับโฉมแต่ละครั้ง จำเป็นต้องรอให้ตัวรถรุ่นเดิมถูกวางจำหน่ายมานานประมาณนึงก่อนแล้วจึงเปลี่ยนโฉม
เรามองว่าเป็นเพราะขนาดองค์กรที่ใหญ่มากแบบค่ายญี่ปุ่น ทำให้การขยับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงสเปครถแต่ละครั้งมีความเชื่องช้า ทำให้ปรับตัวไม่ทันค่ายรถคู่แข่งที่เล็กกว่าอย่าง Ducati หรือค่ายรถที่มีแผนกแข่งขันที่มีอำนาจพัฒนารถด้วยตัวเองอย่าง BMW M การให้ Bimota ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กในเครือ Kawasaki เข้ามารับหน้าที่ตรงนี้จึงน่าจะช่วยอุดจุดอ่อนที่ว่าได้
อีกจุดที่เราให้ความสนใจคือเรื่องของค่าตัวรถตัวขาย เพราะรถที่จะใช้ในการแข่งขัน WSBK นั้นมีการจำกัดเพดานค่าตัวต่อคันแบบรวมภาษีไว้ไม่ให้เกิน 44,000 EURO มันก็คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รถค่ายญี่ปุ่นซึ่งมักจะมีค่าตัวประมาณ 25,000 – 30,000 EURO จะมีจุดที่เสียเปรียบรถยุโรปที่มีค่าตัว 35,000 – 40,000 EURO
และถึงแม้ว่าชิ้นส่วนหลายชิ้นจะสามารถเปลี่ยนไปใช้ของแพงกว่าได้ในรถตัวแข่ง แต่ด้วยความที่กติกามีการบังคับว่าชิ้นส่วนบางรายการจำเป็นต้องเหมือนกับรถรุ่นขายจริง ก็ทำให้รถที่มีค่าตัวแพงกว่า สามารถยัดของติดรถเหล่านั้นที่มีคุณภาพมากกว่ามาให้ได้เลย
สุดท้ายคือเรื่องของจำนวนการผลิตขั้นต่ำ เนื่องจากรถทุกรุ่นที่จะลงแข่งขันใน WSBK จำเป็นต้องมียอดการผลิตเริ่มแรกก่อนลงแข่งอยู่ที่ 125 คัน และต้องผลิตให้ครบ 250 คัน ภายในสิ้นปีกแรกที่ลงแข่งขัน และต้องผลิตให้ถึงยอด 500 คัน ภายในช่วงสิ้นปีที่สอง
แน่นอนว่าจำนวนดังกล่าวถือว่าน้อยมากสำหรับค่ายรถอย่าง Kawasaki การออกแบบรถใหม่ทุกไม่กี่ปีเพื่อยอดขายเพียงเท่านั้น เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าเลยสำหรับสายผลิตขนาดใหญ่ของค่ายเขียว แต่มันกลับเป็นจำนวนกำลังดีสำหรับ Bimota ที่เชี่ยวชาญการผลิตรถที่มีความพิเศษ แต่มีจำนวนการผลิตที่น้อย และมีค่าตัวแพงกระฉูด
แต่ทุกคนก็ไม่ต้องกังวลไป Kawasaki ZX-10R และ ZX-10RR นั้นจะไม่ได้หายไปแบบค่ายรถร่วมชาติรายอื่น เพราะทีมแข่งของค่ายเขียวในเวทีอื่น รวมถึงทีมแข่งอิสระรายอื่นก็ยังต้องใช้รถรุ่นนี้ต่อไป นอกจากนี้ตำแหน่งการตลาด และค่าตัวของรถทั้งสองรุ่นคงจะห่างกันมากจนไม่เป็นคู่แข่งกันเอง จะให้มองว่า Bimota KB998 นั้นทำหน้าที่เป็นเหมือนรถตัวแรงของค่ายเขียวแบบ BMW M1000RR หรือ Ducati Panigale V4 R ก็น่าจะได้
Bimota KB998 รุ่นขายจริงคาดว่าจะเปิดตัวอย่างเร็วที่สุด ในงาน EICMA 2024 ที่กำลังจะมีขึ้นในต้นเดือนหน้า ก่อนที่จะวางจำหน่ายให้ได้ยอดตามเป้า เพื่อให้สามารถใช้ลงแข่งขันในรายการ WSBK ได้ทันในปีหน้า
อ่านข่าวสาร Kawasaki เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าวสาร Bimota เพิ่มเติมได้ที่นี่