รีวิว Honda CB1000R เน็คเก็ทจอมพลัง พี่ใหญ่ไฟกลม จากตระกูล NSC

0

ตลอดเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าทาง Honda ทยอยทำตลาดรถมอเตอร์ไซค์ในกลุ่ม NEO SPORTS CAFÉ อย่างจริงจังมาก เรียกได้ว่ามีตัวรถให้ลูกค้าเลือกแทบครบทุกคลาส ซึ่งทางทีมงาน MotoRival เราเองก็ได้รับโอกาสให้ทำการทดสอบและรีวิวเหล่า CB-R กันไปแล้วเกือบครบทุกรุ่น แล้ว ไม่ว่าจะเป็น

Review-Cover-Honda-CB150R
CB150R,

รีวิว 2018 Honda CB300R
CB300R

Review-Honda-CB650R_2
CB650R

review-2018-honda-cb1000r-03
จนกระทั่งในที่สุด เราก็ถึงคราว รีวิว Honda CB1000R ซึ่งถือเป็นพี่ใหญ่ไฟกลม จากตระกูล NSC คันนี้กันเสียที จะเป็นอย่างไรบ้างมารับชมกันเลยครับ

Honda-CB1000R_1รูปลักษณ์ภายนอก
เริ่มจากหน้าตาตัวรถ ที่ในเมื่อมันเป็นพี่ใหญ่ของตระกูล CB-R ดังนั้นดีไซน์ในภาพรวมของมัน จึงถูกออกแบบด้วยกลิ่นอาย Neo Sport Café ที่เกิดจากการผสมผสานความเป็น Café Racer เข้ากับ Street Fighter ของรถมอเตอร์ไซค์ทรง Naked อย่างลงตัว พร้อมผสานจิตวิญญาณความคราฟต์แบบญี่ปุ่น (Japanese Craftsmanship) ที่เน้นความประณีตและความใส่ใจในการออกแบบ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของรถมอเตอร์ไซค์ตระกูลนี้ ดังที่เห็นได้จาก

review-2018-honda-cb1000r-04
ชุดโคมไฟหน้าทรงกลมแบบ Full LED แบ่งสองชั้นไฟต่ำ (ด้านบน) ไฟสูง (ด้านล่าง) ชัดเจนด้วยตัวขั้นสีเงินประทับตรา “HONDA” โดยมีไฟ DRL เป็นวงแหวนล้อมรอบ และล้อมกรอบด้วยชิ้นพลาสติกสีเงิน ขนาบข้างด้วย ไฟเลี้ยว LED พิมพ์นิยมของ Honda ในตอนนี้

review-2018-honda-cb1000r-23
ด้านไฟท้ายเองก็เป็น LED เช่นกัน แต่ทำทรงครึ่งวงกลม และสีแดงแบบปกติ โดยมีหลอดไฟ 6 ดวงจัดเรียงเม็ดอย่างสวยงามฝังไว้ด้านใน พร้อมล้อมโคมด้านในด้วยแถบไฟ LED อีกชั้น เหมือนอย่างเช่นที่ได้เป็นแรงบันดาลใจถ่ายทอดลงไปในน้องเล็กทั้งหลาย และมีระบบ Emergency Stop Signal (ESS) ระบบไฟสัญญาณกระพริบแจ้งรถคันหลังเมื่อมีการเบรกกะทันหัน ซึ่งใน CB1000R คันนี้ถือเป็นรุ่นแรกที่มีการใส่ระบบดังกล่าวเข้าไป

review-2018-honda-cb1000r-13
พอกลับมาด้านบนหลังไฟหน้าอีกครั้ง ก็จะพบกับ เรือนไมล์ Full Digital – LCD Blacklight มีแถบสีเงิน “Eclipse – shaped Ring” ครอบตัวเรือนด้านซ้าย แสดงผลครบครัน ทั้ง วัดรอบ, ความเร็ว, ตำแหน่งเกียร์, เวลา, ระยะทางรวม, ทริป A/B, อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย, อัตราสิ้นเปลืองแบบเรียลไทม์, ปริมาณน้ำมันที่ใช้ในทริป เป็นต้น ถือเป็นต้นแบบให้ทั้ง Honda 650-Series และ 500-Series

ทว่าด้วยความที่เป็นพี่ใหญ่ ดังนั้นตัวหน้าจอของ CB1000R จึงมีฟังก์ชันเสริมเป็นระบบชิฟท์ไลท์ที่ไม่ใช่แค่ตั้งเวลา กับช่วงการกระพริบแจ้งเตือนผู้ขี่ได้เพียง 2 อย่างเท่านั้น แถมยังสามารถเซ็ทสีของไฟตอนยังไม่ถึงรอบการเตือน ตามโหมดการทำงานของเครื่องยนต์ได้อีกด้วย (ซึ่งเราจะลงลึกรายละเอียดตรงนี้ในภายหลัง) หรือจะให้เซ็ทสีไฟชิฟไลท์แบบเกียร์ต่อเกียร์(เกียร์นึงสีนึง)ก็ยังได้

review-2018-honda-cb1000r-32
ขยับมาที่แฮนด์บาร์ ก็จะพบกับแฮนด์ทรง Fat-Bar สีเงินที่ Honda ติดตั้งมาให้เรียบร้อย ตามฉบับเน็คเก็ทไบค์รุ่นใหญ่

review-2018-honda-cb1000r-17
ส่วนสวิทช์ไฟต่างๆที่อยู่บนประกับฝั่งซ้ายก็จะมีทั้งปุ่ม ไฟเลี้ยว, ไฟสูง-ต่ำ + ไฟ Pass ในตัว, แตร, ไฟ Hazard, ปุ่มปิดแทร็คชัน (ใช้ได้เฉพาะในโหมด User), ปุ่ม Select ฟังก์ชั่น และ ปุ่มปรับโหมดแสดงผล

review-2018-honda-cb1000r-16
ขณะที่สวิทช์ไฟบนประกับฝั่งขวา ก็จะมีเพียงปุ่ม Start แบบ 2in1 กับปุ่ม Kill Switch (ดับเครื่อง)

review-2018-honda-cb1000r-18
กระเถิบไปอีกนิดด้านหน้าแฮนด์บาร์ ก็จะพบกับมือเบรกปรับได้ 6 ระดับ และปั๊มเบรกบน ทรงตู้กระจกทึบ เหมือนของแต่งแบรนด์ดังอิตาลี

review-2018-honda-cb1000r-28
ส่วนด้านซ้ายยังเป็นก้านคลัทช์ธรรมดายังไม่มีฟังก์ชันปรับระดับได้แต่อย่างใด

review-2018-honda-cb1000r-19
ด้านเบ้ากุญแจถูกวางตำแหน่งไว้ด้านหน้าถังน้ำมัน เช่นเดียวกับที่ทำเอาไว้ใน Honda 650-Series ทั้ง CB650R และ CBR650R

review-2018-honda-cb1000r-12
ถังน้ำมัน มีความจุ 16.2 ลิตร รูปทรงด้านข้างดูเป็นมัดกล้ามเนื้อชัดเจน มีการเดินแถบสีเทาเล็กน้อยเพื่อตัดโทน และไม่ลืมประทับเอมเบลมสัญลักษณ์รูปปีกนกพื้นแดงทะมึนไว้ทั้งด้านซ้าย/ด้านขวาของตัวถังน้ำมัน

review-2018-honda-cb1000r-06
ลงมาใต้ถังก็จะเห็น เพลทครอบกรองอากาศ และปีกครอบหม้อน้ำ ชิ้นงานอลูมิเนียมแท้ พร้อมสลักลาย CB1000R ให้ลุคพรีเมียม

review-2018-honda-cb1000r-20
ไม่เพียงเท่านั้นบริเวณเสื้อสูบและแครงก์เครื่องยนต์ ถูกตกแต่งด้วยแถบสีเงิน เพื่อตัดกับโทนสีดำของตัวรถ

เฟรมหลักเป็นแบบเหล็ก Mono-backbone และมีแท่นยึดสวิงอาร์มเป็นอลูมิเนียมแยกออกมาต่างหาก ช่วยลดน้ำหนักจากที่ควรจะเป็นถึง 2.5 กิโลกรัม

review-2018-honda-cb1000r-11
ตัวเบาะนั่งเป็นแบบ 2 ตอน แต่ทำทรงเหมือนตอนเดียวตามคอนเซปท์ NSC ถือเป็นต้นแบบให้กับ Honda 650-Series เช่นกัน

review-2018-honda-cb1000r-10
ซับเฟรมหลังอลูมิเนียมหล่อขึ้นรูป ทำร่อง/รูสวยงาม ให้อารมณ์คล้ายฝาแฝดร่างสปอร์ต CBR1000RR ไม่น้อย

review-2018-honda-cb1000r-22
ท่อไอเสียขนาดใหญ่ มีรูระบาย 2 รู ขนาดเล็กกับขนาดใหญ่

review-2018-honda-cb1000r-24
และแน่นอนว่าจุดเด่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เด็ดขาดก็คือชุดสวิงอลูมิเนียมอาร์มแขนเดี่ยวด้านหลัง ซึ่งถือเป็นซิกเนเจอร์หลักของรถมอเตอร์ไซค์ตระกูล CB1000R มาตั้งแต่ตอนที่มันยังเป็น CB1000R ‘Barracuda’ และยังไม่พลาดที่จะย้ายแท่นยึดป้ายทะเบียน กับบังโคลนก็จากใต้เบาะผู้ซ้อน มาอยู่ตรงนี้แทนด้วย

review-2018-honda-cb1000r-26
ปิดด้วยชุดล้อดีไซน์ให้มีกลิ่นอายคล้ายกับฝาแฝดร่าง Superbike อย่าง CBR1000RR รัดด้วยยางไซส์ 120/70-17 และ 190/55-17 ตามลำดับหน้า/หลัง ก็เป็นอันจบสำหรับภาพลักษณ์โดยรวม

review-2018-honda-cb1000r-39
สำหรับมิติของ Honda CB1000R
อยู่ที่ 789 x 2,120 x 1,090 ตามสัดส่วน กว้าง x ยาว x สูง ในหน่วย มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อที่ 1,455 มิลลิเมตร
ระยะห่างจากพื้น 135 มิลลิเมตร

review-2018-honda-cb1000r-30
ความสูงของเบาะ 830 มิลลิเมตร
มุมคาสเตอร์/ระยะเทรล 25°00’องศา /100 มิลลิเมตร
น้ำหนักสุทธิ (กก.) 212 กิโลกรัม

2019-Honda-CB1000R-Press-trip-06-12-ed
ท่านั่ง

เริ่มจากการขึ้นคร่อม แม้ความสูงเบาะจะเคลมไว้ที่ 830 มิลลิเมตร ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตัวรถทั่วไป แต่ด้วยความที่ตัวเบาะนั่งช่วงหว่างขามีความกว้างพอประมาณ ไม่หนาไม่แคบเกินไป ทำให้ตัวผู้ทดสอบ ที่สูงเพียง 168 เซนติเมตร สามารถใช้ขาข้างเดียววางลงบนพื้นได้อย่างมั่นใจ เนื่องจากเขยิบก้นตอนจอดลงเพียงนิดเดียวเท่านั้น ก็สามารถทิ้งน้ำหนักตัวรถแล้วใช้ฝ่าเท้าค้ำน้ำหนักตัวรถได้เต็มที่แล้ว

Honda-CB1000R-Ride-Position_1
ในฝั่งผู้ทดสอบอีกคนที่สูง 174 เซนติเมตรนั้นหายห่วง สามารถใช้ฝ่าเท้าทั้งสองข้างแตะพื้นได้ย่างมั่นคง แทบไม่ต้องจัดตำแหน่งตัวบนเบาะใดๆทั้งสิ้น

review-2018-honda-cb1000r-32
พอเอื้อมมือจับแฮนด์บาร์ ดูเหมือนตำแหน่งแฮนด์ค่อนข้างไกลเบาะ ตามฉบับ Café แต่ความสูงยังจัดว่าอยู่ในระดับของเน็คเก็ทไบค์ทั่วไป ทำให้รู้สึกต้องโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ความกว้างอยู่ในระดับกำลังดี ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่ช่วงหน้าตัวรถค่อนข้างไว สามารถหักเลี้ยวได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนพักเท้าจัดตำแหน่งมากำลังดี ไม่สูงและไม่ถอยหลังจนเกินไป สามารถใช้เดินทางไกลได้สบายๆ

Honda-CB1000R-Ride-Position_2
ขณะที่ตัวเบาะนั่งช่วงรับบั้นท้ายเองก็มีขนาดใหญ่นั่งได้เต็มก้นทั้งผู้ขี่ผู้ซ้อน

2019-Honda-CB1000R-Press-trip-08-14-ed
เครื่องยนต์ 
เป็นแบบ 4 สูบเรียง 998cc กำลังสูงสุด 143 แรงม้า (ในหน่วย HP) ที่ 10,5000 รอบ/นาที และมีแรงบิดสูงสุดอีก 104 นิวตันเมตร ที่ 8,250 รอบ/นาที สั่งการด้วยระบบคันเร่งไฟฟ้า Throttle By Wire (TBW) มีโหมดการใช้งานเครื่องยนต์ 4 รูปแบบ ได้แก่ Sport, Standard, Rain และ User พร้อมเสริมโหมดความปลอดภัยอย่าง Honda Selectable Torque Control (HSTC) หรือ แทร็คชันคอนโทรลเข้าไปด้วย ซึ่งจากการใช้งานจริงตัวระบบแทร็คชั่นที่ให้มานั้น ทำงานได้เนียนมาก หน่วงกำลังเครื่องได้ค่อนข้างดี ชนิดที่กว่าจะรู้สึกตัวว่าระบบทำงานอีกทีก็คือตอนที่มันเลิกหน่วงกำลังเครื่องยนต์ไปแล้ว

review-2018-honda-cb1000r-29
โดยสำหรับบุคลิกหรือนิสัยของเครื่องยนต์ CB1000R เราคงต้องแบ่งตามโหมดการขับขี่ดังนี้
อัตราเร่งโหมด Sport ค่อนข้างติดมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรอบกลางถึงปลาย เวลาเปิดคันเร่งมีความดีดและพร้อมจะโดด กระตุกไปด้านหน้านิดๆ ให้อารมณ์สนุกสนานในการใช้งานอย่างมาก ส่วนเอนจิ้นเบรกจะน้อยที่สุดเพื่อความไหลลื่นในการเข้าโค้ง
อัตราเร่งโหมด Standard กำลังขี่สบาย ไม่เครียด เนื่องจากช่วงต้นจะหนืดนิดๆ แต่กลางกับปลายสามารถไหลได้ต่อเนื่อง เนื่องจากลดเพียงแค่แรงบิดลงมาจาก Sport นิดหน่อยเท่านั้น ขณะที่แรงม้าสูงสุดยังเท่าเดิม และเอนจิ้นเบรกจะอยู่ในระดับกลาง หน่วงรถได้ประมาณหนึ่ง
อัตราเร่งโหมด Rain มีความเนือยที่สุด บิดคันเร่งแล้วไม่พุ่งเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากโดนตอนทั้งแรงบิดและแรงม้า เพื่อหวังผลในเรื่องความปลอดภัยเวลาเจอทางลื่นๆ เช่นตอนฝนตกเป็นต้น ขณะที่เอนจิ้นเบรกจะหนักหน่วงที่สุด เพื่อการชลอตัวรถที่หนืดยิ่งขึ้น ซึ่งหากมีผู้ซ้อนแล้วไม่อยากโดนบ่นเรื่องขี่กระโชกโฮกฮาก แนะนำโหมดนี้เป็นอย่างยิ่ง
ส่วนโหมด User นั้น เป็นโหมดที่ผู้ใช้สามารถปรับเซ็ทระดับ กำลัง (Power), แทร็คชัน (Torque Control), และ เอนจิ้นเบรก (EB) ซึ่งจะชอบอย่างไหนมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ใช้เลยครับ (อ้อ ในโหมดนี้สามารถปิดแทร็คชัน ผ่านปุ่มลัดบนประกับแฮนด์ซ้ายได้ด้วยนะครับ)

review-2018-honda-cb1000r-08
อย่างไรก็ดี เราพบว่า หากขี่ด้วยรอบสูงๆ ตั้งแต่ 5,000 รอบ ขึ้นไป พบว่าเครื่องยนต์มีอาการสั่นเครือ แล้วส่งแรงไปที่แฮนด์บาร์ค่อนข้างมาก (เป็นการสั่นเหมือนโทรศัพท์สั่น) ส่วนความเร็วสูงสุดไม่ได้วัดตัวเลขที่แน่ชัดไว้ เนื่องจากแค่ขึ้น 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ตัวก็แทบจะปลิวแล้ว แต่จากการที่รอบเครื่องยนต์ยังเหลือให้ไปต่ออีกเล็กน้อย ดังนั้นคาดว่าตัวเลขสูงสุดน่าจะอยู่ที่ราวๆ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เกินจากนี้ไปไม่มากนัก ตามลักษณะอัตราทดและทรงรถ ซึ่งอันที่จริงก็ถือว่าเหลือแหล่ เพราะคงไม่ได้ใช้ความเร็วขนาดนั้นบ่อยนักบนเจ้า CB1000R คันนี้เท่าไหร่ เนื่องจากพอทะลุความเร็วระดับ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นมา ก็เกร็งคอรับลมแทบไม่ไหวแล้วดังที่เราได้เกริ่นเอาไว้ก่อนหน้านี้นั่นเอง

review-2018-honda-cb1000r-42
ด้านอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง หลังจากที่เราได้ทำการรีเซ็ทค่าที่บันทึกไว้บนมาตรวัดตอนรับรถมาใหม่ๆ แล้วนำ CB1000R ไปใช้งานแบบจัดเต็มทั้งในเมืองด้วยความเร็วต่ำ-กลาง และบนถนนนอกเมืองที่สามารถใช้ความเร็วสูงๆโดยไม่ได้สนในการปั้นตัวเลข ตัวหน้าจอแสดงผลบนมาตรวัดก็จะบอกเป็นเลขประมาณนิ่งๆไว้ที่ 15.5 กิโลเมตร/ลิตร นั่นจึงเท่ากับว่า น้ำมัน 1 ถังที่จุเชื้อเพลิงไว้ 16.2 ลิตรนั้น สามารถรองรับระยะทางในการใช้งานได้ราวๆ 250 กิโลเมตรเลยทีเดียว (แต่อย่าเติมน้ำมันเต็มถังแล้วดันใช้กันจนได้ระยะทางต่อถังเท่านี้นะครับ เพราะถึงแล้วคือน้ำมันหมดเกลี้ยง 100% แน่นอน)

review-2018-honda-cb1000r-05
ระบบกันสะเทือน

ด้านหน้าเป็น ชุดโช้กหัวกลับจาก Showa ขนาดแกน 43 มิลลิเมตร แบบ SFF-BP (Separate Function Front Fork – Big Piston) ทำงานแยกฝั่งระหว่าง สปริง กับ วาล์วคุมอัตราการยืด/ยุบ สามารถปรับเซ็ทได้ทุกค่า

review-2018-honda-cb1000r-21
ส่วนด้านหลังเป็นแบบโมโนช็อค ‘Balance Free Rear Cushion’ ไม่มีกระเดืองทดแรง ทำงานร่วมสวิงอาร์มแขนเดี่ยว หรือโปรอาร์ม ปรับเซ็ทได้ทุกค่าเช่นกัน

review-2018-honda-cb1000r-35
โดยหากพูดถึงการเซ็ทติ้งช่วงล่างเดิมๆออกโรงงานนั้น ถือว่าค่อนข้างนิ่ม และหนืดพอประมาณ หากใช้งานในเมืองต้องยอมรับว่าให้ความคล่องตัวสูงมาก สามารถพลิกเลี้ยวตัวรถได้อย่างฉับไว ไม่มีอาการดื้อโค้ง หรืออุ้ยอ้ายเลยสักนิด แม้น้ำหนักตัวรถจะสูงถึง 212 กิโลกรัม ส่วนความเร็วในการยุบยืดตัวโช้ก ไม่ได้สูงอะไรมากมายนัก สามารถไหลเข้าโค้งแบบเบาๆได้อย่างมั่นใจ ตามความแข็ง/อ่อนของโช้กที่เซ็ทไว้ขณะนั้น

review-2018-honda-cb1000r-34
ในขณะเดียวกันถ้าเพื่อนๆต้องการนำไปใช้เดินทางไกล หรือใช้ลงสนาม (แทร็คเดย์ขำๆ) เพื่อนๆก็อาจจะต้องปรับให้แข็ง และหนืดขึ้นอีกประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโช้กหลัง เพื่อความเฟิร์ม ตอนพลิกเลี้ยว และกระชับในการเอียงรถไต่ไปตามโค้งบนเส้นทางขุนเขา หรือแทร็คทั้งหลายที่ต้องใช้ความเร็วสูงกว่าในเมือง

review-2018-honda-cb1000r-27
ระบบเบรก

ด้านหน้าเป็นแบบดิสก์คู่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 310 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับปั๊มเรเดียลเมาท์ 4 พอร์ทจากแบรนด์คู่บุญ Tokico และด้านหลังเป็นแบบดิสก์เดี่ยว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าใครที่ 256 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับปั๊มโฟลทติ้งเมาท์ 1 พอร์ทจากแบรนด์ Nissin

Honda-CB1000R_2
ในเรื่องของประสิทธิภาพตัวระบบเบรกนั้น จะไม่ได้จับแล้วจึ้กในทันทีที่กำ แต่ให้สัมผัสในเรื่องของการไล่น้ำหนักค่อนข้างดี ค่อนไปทางนุ่มนวลมากกว่า ทว่าหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมา หรือผู้ขี่ต้องการใช้งานเบรกหนักๆ ตัวเบรกติดรถของ CB1000R นี้เอง ก็สามารถชะลอตัวรถ,ผู้ทดสอบ และสัมภาระที่หนักรวมกันถึง 300 กว่ากิโลกรัม ได้อย่างอยู่หมัด ดังนั้นจึงหายห่วงได้เลยในเรื่องระบบเบรก

Honda-CB1000R_3
ไม่เพียงเท่านั้น ตัวระบบ ABS ที่ติดรถมา ก็เป็นแบบ 2 Channel แยกการทำงานกันระหว่างด้านหน้าและด้านหลัง ดังนั้นหากล้อใดล้อหนึ่งเกิดการล็อคขึ้นมา ตัวระบบ ABS ก็จะไม่ไปทำงานรบกวนอีกล้อหนึ่งให้หงุดหงิดใจ นอกจากนี้หากพูดถึงการทำงาน ทาง Honda ก็ยังเซ็ทโปรแกรมระบบ ABS ให้ทำงานยากประมาณหนึ่ง เมื่อเทียบกับรถมอเตอร์ไซค์ทั่วๆไป แถมยังมีความเนียนไม่แพ้ตัวระบบแทร็คชั่น ซึ่งคงถูกใจเพื่อนๆสายสนาม หรือคนที่ชอบกำเบรกหนักๆแน่นอน

2019-Honda-CB1000R-Press-trip-07-13-ed
เสริมอีกนิดในเรื่องของความคล่องตัวจากการใช้งานจริง

แม้ในความรู้สึกแรก มิติตัวรถของ CB1000R จะดูใหญ่เอาเรื่อง กระทั่งน้ำหนักตัวรถที่เคลมไว้ 212 กิโลกรัมเอง ก็ทำให้ต้องใช้แรงพอสมควรตอนจะเข็นย้ายตัวรถ รวมถึงถังน้ำมันจะมีความกว้างออกไปทางด้านข้างพอสมควรเมื่อเทียบกับรถมอเตอร์ไซค์เน็คเก็ทคันอื่นๆ แต่ตัวแฮนด์บาร์ไม่ได้กว้างอย่างที่คิด ประกอบกับการที่พอรถเริ่มตั้งตัวเองได้เมื่อผ่านความเร็วระยะหนึ่งแล้ว หน้ารถจะเบาและไวนิดๆฉบับเน็คเก็ทไบค์ ทำให้เราสามารถใช้มุดในช่องจราจรได้อย่างคล่องตัว (ถ้าพรีเมียมสกูตเตอร์ 150cc-300cc ไปได้ เราก็สามารถตามไปได้อย่างไม่ห่างเท่าไหร่นัก) ขณะที่น้ำหนักคลัทช์ก็จัดว่าอยู่ในระดับกลางๆค่อนไปทางเบา เพราะมีการติดตั้งตัวสลิปเปอร์คลัทช์มาให้เรียบร้อยตอนออกโรงงาน

Review-Honda-CB1000R_1ทว่าด้วยความที่ถังน้ำมันค่อนข้างเรียบไปนิดเมื่อเทียบกับความสูงเบาะ ทำให้เวลาเบรกอาจจะรู้สึกหวิวๆสักนิด เนื่องจากไม่ค่อยมีโหนกถังไว้ค้ำตัวช่วงหว่างขา นอกนั้นในเรื่องของการโหนแล้วใช้ขาเกี่ยวถังแบบสปอร์ตในสนามก็ไม่ได้ติดขัดอะไรมากมายนักในส่วนท่อนล่าง (ส่วนท่อนบนจะเก้ๆกังหน่อยๆอยู่แล้ว เพราะมันไม่ได้เป็นแฮนด์จับโช้กแบบสปอรตเรพลิก้านั่นเอง)

ส่วนความรู้สึกของลมปะทะในช่วงความเร็วสูงๆ ตั้งแต่ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป สัมผัสได้ว่ามีกระแสลมตีลำตัวช่วงบนค่อนข้างเยอะ ซึ่งก็เป็นปกติสำหรับรถมอเตอร์ไซค์แนวเน็คเก็ทไบค์ และถ้าจะขี่เจ้า CB1000R คันนี้ด้วยความเร็วระดับ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป แล้วอยากหลบลมปะทะที่ว่าให้พ้น ก็มีแต่จะต้องหมอบให้ติดถังอย่างเดียวเท่านั้น

review-2018-honda-cb1000r-36
สรุป รีิวิว Honda CB1000R ในครั้งนี้นั้น แม้หน้าตาของ Honda CB1000R อาจจะไม่ได้เน้นในเรื่องความแหลม เรียว เฉียบ คม เหมือนอย่างสปอร์ทเน็คเก็ทไบค์คลาส 1,000+cc ทั่วๆไป แล้วเลือกนำเสนอตนเองในแบบ Neo-Classic ที่ดูเรียบหรู หล่อเหลา และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่า แต่เมื่อมองในเรื่องสมรรถนะตัวรถต่างๆ ทั้งเครื่องยนต์ ช่วงล่าง การควบคุม ความคล่องตัว และระบบสมองกลภายใน เอาจริงๆเจ้านี่ก็คือหนุ่มหล่อใส่สูทที่มาพร้อมกับนิสัยใจคอแบบร้ายลึก ถ้าคุณแรงมา เราก็พร้อมจะแรงไป

ดังนั้นหากเพื่อนๆคนไหนกำลังมองหาสปอร์ทเน็คเก็ทไบค์รุ่นใหญ่สักคันที่มีสมรรถนะไม่แพ้ใคร แต่ยังอยากบ่งบอกถึงรสนิยมเฉพาะตัวที่ต่างออกไป แถมยังสามารถคัสตอมได้อย่างหลากหลายรูปแบบอย่างลงตัวเหมือนอย่างที่เหล่าสำนักแต่งในซีกโลกตะวันตกนิยมทำกันล่ะก็ พี่ใหญ่สุดของตระกูล NEO SPORTS CAFÉ คันนี้ จึงถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

Review-2019-Honda-CB1000R
ไม่เพียงเท่านั้น ในเรื่องของราคาค่าตัวที่ถูกตั้งไว้เพียง 515,000 บาท จึงทำให้เจ้า Honda CB1000R กลายเป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่จับต้องได้ง่ายที่สุดในกลุ่ม เน็คเก็ทไบค์คลาส 1,000cc ด้วยกัน ซึ่งหากเพื่อนๆคนไหนสนใจอยากลองสัมผัสตัวจริงทั้ง ตัวรถสีแดง และ ตัวรถสีดำ ที่มีจำหน่ายในตอนนี้ ก็สามารถรับชมและสัมผัสตัวรถ Neo-Classic รุ่นใหญ่สุดหล่อเหลาคันนี้ได้ที่ศูนย์ Honda Big Bike ทั่วประเทศได้เลยครับ

Review-Honda-CB1000R_2ขอขอบคุณ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด สำหรับรถทดสอบ Honda CB1000R คันนี้
รณกฤต ลิมปิชาติ Test Rider + Photos
ภณ เพียรทนงกิจ Editor

อ่านรีวิวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าว Honda เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!