Tips Trick : แกนโช้กคาร์บอน ดีกว่าแกนโช้กปกติอย่างไร? ลองมาดูทำความเข้าใจกันดีกว่าครับ

0

อย่างที่เราทราบกันดีว่าในการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก MotoGP นั้นเป็นการแข่งขันที่รวบรวมเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดของรถจักรยานยนต์เอาไว้แทบทุกชิ้นส่วนของตัวรถ ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมาทางผู้ผลิตหรือทีมแข่งต่างๆก็ได้มีใช้ชิ้นส่วนแปลกๆมากมาย โดยเฉาะอย่างยิ่งกับการติดตั้งปีกให้กับตัวรถในปี 2016 ก่อนที่จะกลายมาเป็นชุดแฟริ่งมีครีบในปี 2017 เนื่องด้วยกฎความปลอดภัยที่ถูกเพิ่มเข้ามา

carbon-suspension-outer-tube-02
และล่าสุดเราก็ได้เห็นเทคโนโลยีใหม่อีกครั้งซึ่งเราเชื่อว่าในไม่ช้าเราอาจจะเห็นมันติดตั้งมากับรถโปรดักชั่นไบค์สุดหรูซักคันในเร็วๆนี้แน่ กับ “ชุดโช้กหน้าที่มาพร้อมกับกระบอกโช้กคาร์บอน” ซึ่งมันได้โผล่ออกมาให้เห็นกันแบบเงียบๆในตัวแข่ง Desmosedici GP17 ของ Ducati ตั้งแต่สนามแรกของปี

carbon-suspension-outer-tube-07
โดยในส่วนของข้อมูลเชิงเปรียบเทียบตัวเลขนั้นยังไม่ได้มีการเปิดเผยไว้ว่าเจ้าชุดโช้กใหม่นี้มีความดีความชอบสูงขึ้นกว่าแบบกระบอกอลูมิเนียมกี่เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งก็เป็นปกติอยู่แล้วสำหรับเรื่องแบบนี้ในการแข่งขัน MotoGP) แต่จากคำเกริ่นของทั้งทาง Ohlins และวงในของการแข่งขันนี้ได้กล่าวเอาไว้ว่า ด้วยคุณสมบัติในเรื่องของความแข็งที่ได้จากวัสดุคาร์บอนนั้น ทำให้การบิดตัวของโช้กทั้งขณะเลี้ยวและขณะเบรกก่อนเข้าโค้งนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด

carbon-suspension-outer-tube-08
(จากภาพที่เราแนบมาจะเห็นได้ว่าในขณะเบรก ถ้าหากเป็นโช้กอลูมิเนียมของเดิมนั้น ตัวโช้กจะงอเข้าหาตัวรถจนล้อถอยเข้ามาถึง 10 มิลลิเมตรเลยทีเดียว เนื่องจากแรงกระทำที่สวนทางกันระหว่างตัวรถกับแรงเบรกของล้อหน้า ส่วนระยะที่ร่นเข้ามาหลังจากใช้กระบอกโช้กแบบคาร์บอนลดลงมาจากเดิมเท่าไหร่นั้น ไม่ได้ระบุไว้ แต่คาดว่าช่วยได้ไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิเมตรแน่นอน)

carbon-suspension-outer-tube-03
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงความทนทาน จากการทดสอบทั้งในการใช้งานจริงและในห้องแล็ป ทาง Ohlins ก็ได้ระบุไว้ว่ามันสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่ากระบอกโช้กอลูมิเนียมถึง 5 เท่า โดยที่การเพิ่มความแข็งแรงในส่วนนี้นั้นไม่ได้ทำให้น้ำหนักของชุดระบบกันสะเทือนด้านหน้านี้เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย แถมที่จริงยังทำให้น้ำหนักลดลงไปได้ถึง 500 กรัมต่อคู่ด้วยซ้ำ (ในที่นี้ขึ้นอยู่กับความแข็งในการออกแบบตัวกระบอกโช้กด้วย)

carbon-suspension-outer-tube-09
สำหรับประโยชน์ในเรื่องของการเซ็ทอัพนั้น เนื่องจากความสามารถในเรื่องของความทนทานหรือการต้านการงอ ทำให้สามารถออกแบบความแข็งของตัวกระบอกโช้กให้เหมาะสมกับแรงสะเทือนที่เกิดขึ้นขณะเข้าโค้งได้ง่ายยิ่งขึ้น กล่าวคือ ถ้าออกแบบกระบอกโช้กให้แข็งไว้ก่อน แม้ว่าในการเบรกก่อนเข้าโค้งจะมีความเสถียรมากขึ้นก็จริง แต่ขณะที่รถเอียงตอนอยู่ในโค้ง เนื่องจากแนวการสั่นสะเทือนนั้นมาในทิศด้านข้าง (ซ้าย/ขวา) ของตัวโช้ก ทำให้ตัวโช้กเองไม่สามารถงอเพื่อซับแรงกระเทือนดังกล่าวได้ และจะเกิดอาการกระดอนรุนแรงมากขึ้นตามมานั่นเอง

carbon-suspension-outer-tube-06
ด้านการซ่อมบำรุงหรือการตรวจสอบความเสียหายนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะแต่เดิมถ้าเป็นกระบอกโช้กอลูมิเนียม หากเกิดการล้มหรือชนแต่ละครั้ง ทาง Ohlins จะตรวจสอบเพื่อเช็คว่าตัวกระบอกดังกล่าวยังสามารถใช้งานได้อยู่หรือไม่ ได้ยากมาก ส่วนมากพวกเค้าจึงเลือกทำลายทิ้งทันที แต่ในขณะเดียวกันถ้าเป็นตัวกระบอกโช้กคาร์บอนนั้นพวกเค้าสามารถตรวจสอบได้ง่ายมากกว่า (อาจจะด้วยวิธีการแสกนเพื่อดูรอยร้าวภายใน หรือเคาะเพื่อฟังเสียงปริแตกซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัสดุชนิดนี้) และถ้าหากตัวโช้กที่พึ่งล้มมายังสามารถใช้งานได้อยู่ ก็จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดทรัพยากรในการผลิตได้อย่างมาก เพราะไม่ต้องผลิตชิ้นส่วนใหม่ขึ้นมา

carbon-suspension-outer-tube-01
ส่วนตัวปลอกสีทองที่หุ้มอยู่บนกระบอกโช้กอีกทีนั้นถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตำแหน่งให้แผงคอตัวล่างใช้ยึดจับเท่านั้น โดยเหตุผลก็คือเพื่อลดแรงกระทำที่จะขึ้นกับตัวโช้กและเป็นการป้องกันรอยขีดข่วนนั่นเอง (อย่าลืมว่าถึงแม้จะแข็งแรงมากแค่ไหน แต่ด้วยความเป็นวัสดุคาร์บอน ถ้าหากมีรอบปริแตกแม้แต่นิดเดียว ก็อาจจะทำให้เกิดรอยร้าวและแยกส่วนออกมาในภายหลังได้)

carbon-suspension-outer-tube-04
อ่านข่าว MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านบทความ Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!